คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี
เชิญเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเวทีสัมมนา
เชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมแมนดาริน เมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ ให้แก่นักวิชาการ ผู้สอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมเปิดประเด็นนำเกาหลีศึกษาเข้าสู่ระดับอาชีวศึกษารองรับแรงงานสายอาชีพตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ที่ โรงแรมแมนดาริน เมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ มีการเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา เพื่อระดมความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญชาวไทยกับชาวเกาหลีในด้านประวัติศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนร่วมกันหาแนวในการพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทยทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา โดยมี ฯพณฯ โน กวัง-อิล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับ ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดการสัมมนา และ รศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวรายงาน นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปราศรัย
สาระสำคัญของการสัมมนาประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้บริหาร เรื่อง การอภิปรายสถานการณ์ปัจจุบันและหาแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา และการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มครู โรงเรียนมัธยมและสถาบันอาชีวศึกษา เรื่อง แนวทางในการพัฒนาการเรียนการ สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา โดยมีหัวข้อการบรรยายทางวิชาการที่น่าสนใจ เช่น ลักษณะเฉพาะและการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกาหลี , ความสัมพันธ์ทางการทูตของสาธารณรัฐเกาหลีกับประเทศไทย , ภาษาเกาหลีกับการพัฒนา ฝีมือแรงงาน , อนาคตการเรียนการสอนภาษาเกาหลีและนโยบายการเรียนการสอน ภาษาต่างประเทศในสถาบันอาชีวศึกษา , ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีสาหรับแรงงานไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , การเรียนการสอนภาษาเกาหลีในสถาบันอาชีวศึกษา , อนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างไทย-เกาหลี เป็นต้น
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา กล่าวว่า การสร้างร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินกิจการต่างๆ ของประเทศไทยที่มีร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีนั้น ได้ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศในด้านต่างๆ ขยายตัวมากขึ้นพร้อมกับความต้องการเรียนรู้ภาษาเกาหลีเพื่อการสื่อสารในงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้นด้วย การที่ประเทศไทยนำยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 มาใช้เพื่อพัฒนาและนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนด้วยการขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมนั้น ทำให้บทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีที่จะมีต่อประเทศไทยสำคัญยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีต่อการเรียนรู้ การเตรียมความพร้อม และการยกระดับความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนไปสู่ประเทศเศรษฐกิจใหม่ทัดเทียมกับอารยประเทศอื่นต่อไป ในความสำคัญดังกล่าวการเรียนรู้ภาษาเกาหลีและองค์ความรู้เกี่ยวกับเกาหลีศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ศึกษาค้นคว้า วิจัยและสร้างสรรค์การพัฒนาต่างๆ การเตรียมความพร้อมพื้นฐานในด้านทรัพยากรบุคคลของไทยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทั้งภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษานั้น คงไม่มีวิธีการใดดีไปกว่าการจัดการศึกษาและ
จัดประสบการณ์เรียนรู้ที่หลากหลายและรอบด้าน ดังนั้นการสัมมนาในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้ และ
ได้รับทราบความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าใหม่ๆ เกี่ยวกับสาธารณรัฐเกาหลีและความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศไทย รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีหรือเกาหลีศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อ การปรับปรุงการเรียนการสอนและครูผู้สอนในอนาคต รวมทั้งยังผลสืบเนื่องไปสู่การพัฒนาประเทศไทยทั้งในระยะใกล้และระยะไกลตามเป้าหมายที่ได้วางยุทธศาสตร์ไว้
ฯพณฯ โน กวัง-อิล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่
ปี 2529 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในระดับ
อุดมศึกษาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และยังเป็นสถาบันผู้บุกเบิก สนับสนุนให้จัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทยในหลายๆ มิติ ทำให้การจัดการเรียนภาษาเกาหลีในประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยที่ได้จัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลี รวม 40 แห่ง และมีนักเรียนมัธยมศึกษาที่เรียนภาษาเกาหลีในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 30,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนนักเรียนชาวต่างชาติทั้งหมดที่เรียนภาษาเกาหลีทั่วโลก และตั้งแต่ปีนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มีการบรรจุภาษาเกาหลีให้เป็นหนึ่งในภาษาต่างประเทศของระบบสอบ PAT ซึ่งผลดังกล่าวเกิดจากการร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งสองประเทศ
รศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้มีความพยายามในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทยในหลายๆ มิติ เช่น การบุกเบิกการสอนภาษาเกาหลีในระดับมัธยมศึกษา และในปัจจุบันนี้ด้วยความร่วมมือจากสำนักงานการศึกษาขึ้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการของไทยและกระทรวงศึกษาธิการของสาธารณรัฐเกาหลี ทำให้มีการเรียนการสอนวิชาภาษาเกาหลีในระดับมัธยมศึกษามีในประเทศไทย 71 แห่ง ซึ่งการขยายตัวของการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย เป็นกลไกหนึ่งที่จะตอบสนองความต้องของผู้เรียนที่มีเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเกาหลี อย่างไรก็ตามการเพิ่มสูงขึ้นของความต้องการเรียนรู้ภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา เป็นไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา ขาดแคลนแหล่งข้อมูลข่าวสารและสื่อที่จำเป็นต่อการสอนภาษาเกาหลี รวมไปถึงการสร้างระบบที่เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยที่สอนภาษาเกาหลีกับโรงเรียนมัธยมศึกษาถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาเกาหลีศึกษาของไทยในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้นความจำเป็นของการพัฒนาประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจะทำให้การเรียนรู้ภาษาเกาหลีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาตนเองของบุคลากรสายวิชาชีพในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ในฐานะแรงงานมีฝีมือที่สามารถใช้และสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจไปสู่ระดับแนวหน้าของภูมิภาคให้สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีสัมฤทธิผล เนื่องจากสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งมีความสอดประสานกันของสถาบันการศึกษา นโยบายรัฐ และสถาบันวิจัยอย่างเข้มแข็งเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ดังนั้นการขยายการศึกษาภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาไปสู่การศึกษาสายวิชาชีพของไทย จึงน่าจะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่จะยกระดับการพัฒนาของประเทศไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น เพราะภาษาเกาหลีไม่เพียงอยู่ในฐานะภาษาเศรษฐกิจของไทยเท่านั้น แต่ยังมีฐานะเป็นเครื่องมือหรือกุญแจสำคัญสู่การเรียนรู้เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ อีกด้วย
รศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน กล่าวถึงผลจากจากการจัดสัมมนาเกาหลีศึกษา เมื่อปี 2560 ว่า มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำเสนอมาตรการเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษา คือ การจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมด้วยการจัดพื้นที่ภาษาเกาหลี การสนับสนุนของผู้ปกครองในการศึกษาภาษาเกาหลี เพิ่มสัดส่วนครูผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทยให้มากขึ้น ขยายช่องทางระบบทุนการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาในการเตรียมสอบวัดระดับภาษาเกาหลี พัฒนาคู่มือการเรียนการสอน สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการสอบวัดระดับภาษาเกาหลีเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขยายการฝึกอบรมภาษาเกาหลีระยะสั้นในสาธารณรัฐเกาหลี และนับเป็นก้าวแรกที่เห็นความสำคัญ
การจัดระบบการศึกษาเกาหลีศึกษาเพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลเกาหลีจัดส่งครูผู้สอนภาษาเกาหลีให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เปิดสอนวิชาภาษาเกาหลีจำนวน 5 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น
ในการนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในวิทยาลัยอาชีวศึกษา ได้แก่ จัดทำนโยบายการศึกษาภาษาเกาหลี จัดเตรียมหลักสูตรการศึกษา สนับสนุนและจัดทำแนวทางฝึกอบรมครูผู้สอน แผนกิจกรรมการศึกษา จัดทำตำราเรียนภาษาเกาหลี และจัดทำรูปแบบและวิธีการประเมินผลภาษาเกาหลี สำหรับผลการสัมมนาในครั้งนี้ คาดคาดหวังว่าผู้ร่วมสัมมนามีความเข้าใจด้านเกาหลีศึกษาที่เป็นปัจจุบันรวมทั้งแนวทางการจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาต่อไป.