การลงโทษ”ฆ่าคนตาย”ในอิสลาม”ประหารตายตกตามกัน”

ภาพพิธีศพนักโทษประหาร มิ๊ก ธีรศักดิ์

โดยอ.อาลี เสือสมิง
http://alisuasaming.org

กฎหมายอิสลามลักษณะอาญา หมายถึง กฎหมายที่กำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง และกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้นๆเอาไว้ตามตัวบทของอัลกุรฺอานและอัส-สุนนะฮฺ เรียกกฎหมายลักษณะอาญาในภาษาอาหรับว่า อัลฟิกฮุล-ญินาอีย์ (اَلْفِقْهُ الْجِنَاﺋﻲ)  ซึ่งในบทนี้จะกล่าวถึงลักษณะอาญาและบทลงโทษในคดีดังต่อไปนี้

1. การฆาตกรรม (ประทุษร้ายต่อร่างกายและชีวิต)

2. การโจรกรรม (การลักขโมย)

3. การผิดประเวณี (ล่วงละเมิดทางเพศ)

4. การรักร่วมเพศ (ลิวาฏ-เลสเบี้ยน)

5. การดื่มสุรา-การพนัน

6. ข้อห้ามเกี่ยวกับการใส่ร้าย

7. การละทิ้งการละหมาด

การฆาตกรรม (قَتْلُ النَّفْسِ)

การฆาตกรรม คือ การประทุษร้ายต่อร่างกายหรืออวัยวะในร่างกายของบุคคลอันเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย หรือหมายถึงการฆ่าชีวิตมนุษย์นั่นเอง ในหลักศาสนาอิสลามถือว่าการฆาตกรรมเป็นสิ่งต้องห้าม และมีโทษร้ายแรงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ทั้งนี้ เพราะการฆาตกรรมเป็นการละเมิดต่อชีวิตที่เป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ และเป็นการคุกคามต่อความปลอดภัยของหมู่ชนตลอดจนวิถีชีวิตในสังคมมนุษย์ พระองค์อัลลอฮฺ ทรงดำรัสว่า

(وَلاَ تَقْتُلُواْ النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللّهُ إِلاَّ بِالْحَقِّ الآية)

“และพวกสูเจ้าอย่าได้สังหารชีวิตซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงบัญญัติห้ามเอาไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น”   (สูเราะฮฺ อัล-อันอาม อายะฮฺที่ 151)

การฆาตกรรมตามกฎหมายอิสลามมี 3 ชนิดคือ

1. การฆาตกรรมโดยเจตนา คือ การที่บุคคลมีเจตนาสังหาร (ฆ่า) บุคคลด้วยสิ่งที่ทำให้เสียชีวิตโดยส่วนใหญ่ อาทิเช่น ฟันด้วยคมดาบแล้วผู้นั้นเสียชีวิตเนื่องจากการฟันนั้น,หรือยิงปืนใส่ผู้นั้นกระสุนโดนผู้นั้นจนถึงแก่ความตาย,หรือทุบด้วยค้อนเหล็กหรือเผาไฟหรือทับด้วยรถยนต์หรือฝังทั้งเป็นหรือรัดคอจนขาดใจตายหรือวางยาพิษหรือกระทำคุณไสย เป็นต้น (อัลฟิกฮุล-มันฮะญี่ย์ 8/12,14)

2. การฆาตกรรมโดยกึ่งเจตนา หมายถึง การที่บุคคลมีเจตนาประทุษร้ายโดยมิชอบต่อบุคคลด้วยการใช้สิ่งที่ไม่ทำให้เสียชีวิตโดยส่วนใหญ่ แต่บุคคลถึงแก่ความตายด้วยการกระทำดังกล่าวนั้น อาทิเช่น การใช้ไม้ขนาดเล็กตีเบาๆแล้วผู้ถูกตีก็ถึงแก่ความตายเนื่องจากการตีนั้น หรือการจับโยนลงน้ำที่ทำให้ผู้นั้นจมน้ำแต่ผู้นั้นว่ายน้ำเป็น ทว่าเกิดลมพายุหรือคลื่น เป็นเหตุให้ผู้นั้นจมน้ำตาย เป็นต้น ส่วนกรณีที่ผู้นั้นว่ายน้ำไม่เป็นถือว่าเป็นการฆาตกรรมโดยเจตนา

3. การฆาตกรรมโดยเกิดความผิดพลาด คือ การที่บุคคลได้กระทำสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้เช่น การยิงสัตว์ที่ถูกล่าแล้วพลาดไปโดนบุคคลเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายหรือมีความผิดพลาดโดยไม่มีเจตนาเกิดขึ้น เช่น เท้าสะดุดล้มไปทับบุคคลเป็นเหตุให้บุคคลผู้นั้นถึงแก่ความตาย เป็นต้น

ข้อชี้ขาดในการฆาตกรรมแต่ละชนิด มีดังนี้

1) การฆาตกรรมโดยเจตนา มีข้อชี้ขาด 2 ประการคือ

ก. ข้อชี้ขาดทางศาสนาที่เกี่ยวกับโลกหน้า คือ เป็นสิ่งต้องห้ามมีบาปร้ายแรงที่รองจากการปฏิเสธ (กุฟฺร์) และต้องได้รับโทษทัณฑ์ในนรกอเวจี หากฆาตกรไม่ทำการสำนึกผิด (เตาบะฮฺ) พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงดำรัสว่า

وَمَن يَقْتُلْ مُؤْمِنًا مُّتَعَمِّدًا فَجَزَآؤُهُ جَهَنَّمُ خَالِدًا فِيهَا وَغَضِبَ اللّهُ عَلَيْهِ وَلَعَنَهُ وَأَعَدَّ لَهُ عَذَابًا عَظِيمًا

“และผู้ใดฆ่าผู้ศรัทธาโดยเจตนา การตอบแทนของผู้นั้นคือนรกอเวจีโดยที่เขาอยู่ในนั้นตลอดกาล และอัลลอฮฺทรงกริ้วผู้นั้น และทรงสาปแช่งเขา อีกทั้งทรงเตรียมการลงโทษทัณฑ์อันยิ่งใหญ่แก่ผู้นั้นแล้ว   (สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 93)

ข. ส่วนข้อตัดสินอันเป็นคดีความในโลกนี้คือ การประหารชีวิต (อัลกิ-ศ็อศ) หรือจ่ายค่าสินไหมทดแทน (อัดดิยะฮฺ) สถานหนัก ถ้าพี่น้องหรือทายาทของผู้ถูกฆาตกรรมให้อภัย ดังที่อัลกุรฺอานได้ระบุว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُتِبَ عَلَيْكُمُ الْقِصَاصُ فِي الْقَتْلَى الْحُرُّ بِالْحُرِّ وَالْعَبْدُ بِالْعَبْدِ وَالأُنثَى بِالأُنثَى فَمَنْ عُفِيَ لَهُ مِنْ أَخِيهِ شَيْءٌ فَاتِّبَاعٌ بِالْمَعْرُوفِ وَأَدَاء إِلَيْهِ بِإِحْسَانٍ ذَلِكَ تَخْفِيفٌ مِّن رَّبِّكُمْ وَرَحْمَةٌ فَمَنِ اعْتَدَى بَعْدَ ذَلِكَ فَلَهُ عَذَابٌ أَلِيمٌ

“โอ้บรรดาศรัทธาชน การประหารชีวิตให้ตายตกตามกันไปในหมู่ผู้ถูกฆาตกรรมได้ถูกบัญญัติเหนือพวกสูเจ้าแล้ว เสรีชนต่อเสรีชน ทาสต่อทาส สตรีต่อสตรี ดังนั้นผู้ใดถูกอภัยให้แก่เขาผู้นั้น ซึ่งสิ่งหนึ่งจากพี่น้องของผู้ถูกฆาตกรรม ก็ให้ปฏิบัติตามความเหมาะสมและจ่ายค่าสินไหมทดแทนแต่โดยดี ดังกล่าวนั้นคือการผ่อนปรนจากพระผู้อภิบาลของพวกสูเจ้าและคือความเมตตา ดังนั้นผู้ใดละเมิดหลังจากนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับการลงทัณฑ์อันเจ็บปวดยิ่ง”  (สูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 178)

การประหารชีวิต (อัล-กิศ็อศ) คือข้อชี้ขาดตามหลักมูลฐานอันเป็นผลมาจากการฆาตกรรมโดยเจตนา ซึ่งถือเป็นสิทธิของบรรดาทายาทของผู้ถูกฆาตกรรม หากพวกเขาประสงค์ให้มีการประหารชีวิตฆาตกร ก็จำเป็นที่ศาล (กอฎีย์) ต้องช่วยเหลือและอำนวยให้พวกเขาได้รับสิทธินั้น ดังที่อัลกุรฺอานได้ระบุว่า

( وَمَنْ قُتِلَ مَظْلُوْمًا فَقَدْ جَعَلْنَا لِوَلِيِّهِ سُلْطَانًا فَلاَ يُسْرِفْ فِي الْقَتْلِ إِنَّهُ كَانَ مَنْصُوْرًا )

“และผู้ใดถูกฆ่าโดยไม่เป็นธรรม ดังนั้นเรา (อัลลอฮฺ) ได้ให้อำนาจแก่ทายาทหรือผู้ปกครองของเขา (ที่จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด) ฉะนั้นเขาจงอย่าล่วงเกินขอบเขตในเรื่องการฆ่า เพราะแท้จริงเขาเป็นผู้ที่ถูกช่วยเหลือ (ให้ได้รับสิทธิอยู่แล้ว)”  (สูเราะฮฺ อัล-อิสรออฺ อายะฮฺที่ 33)

ดังนั้น ถ้าหากทายาทของผู้ถูกฆาตกรรมมีความประสงค์ในการให้อภัย พวกเขาก็ย่อมกระทำได้โดยรับค่าสินไหมทดแทนจากทรัพย์ของฆาตกร ดังปรากฏในหะดีษที่รายงานโดย อัมร์ อิบนุ ชุอัยบ์ จากบิดาของเขา จากปู่ของเขาว่า แท้จริงท่านนบี ได้กล่าวว่า :

مَنْ قَََتَلَ مُتَعَمِّدًادُفِعَ إِلىَ أَوْلِيَاءِ الْمَقْتُوْلِ ، فَإِنْ شَاﺅُوْاقَتَلُوْهُ ، وَإِنْ شَاﺅُوْاأَخَذُواالدِّيَةَ  وَهِىَ ثَلاَثُوْنَ حِقَّةً ، وثَلاَثُونَ جَذَعَةً وَأَرْبَعُونَ خَلِفَة – الحديث

“ผู้ใดฆ่าโดยเจตนา ผู้นั้นย่อมถูกผลักไปยังบรรดาทายาทของผู้ถูกฆ่า ดังนั้นหากบรรดาทายาทประสงค์ให้ประหารก็ให้ประหารชีวิตผู้นั้น และหากพวกเขาประสงค์ค่าสินไหมทดแทน พวกเขาก็เอาค่าสินไหมทดแทนนั้น คือ อูฐอายุ 3 ปีบริบูรณ์ 30 ตัว , อูฐอายุ 4 ปีบริบูรณ์ 30 ตัว  และอูฐที่ตั้งท้อง 40 ตัว…”   (รายงานโดย อัตติรมิซี -1387-)

ในกรณีที่ไม่มีอูฐจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนก็ให้ตีราคาของอูฐ ดังปรากฏในรายงานของท่าน อัมร์ อิบนุ ชุอัยบ์ จากบิดาของเขา จากปู่ของเขาว่า : การตีราคาของค่าสินไหมทดแทน (อัดดิยะฮฺ) ในสมัยของท่านนบี นั้นคือ 800 ดีนาร์ หรือ 8,000 ดิรฮัม ปรากฏเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา จนท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้เป็นค่อลีฟะฮฺ ท่านได้กล่าวว่า : อูฐนั้นมีราคาแพง ท่านจึงตีราคาว่า ผู้มีทองคำนั้นคือ 1,000 ดีนาร์, ผู้มีเงินนั้นคือ 12,000 ดิรฮัม , ผู้มีวัวคือ วัว 200 ตัว, ผู้มีแกะนั้นคือ แกะ 2,000 ตัว , ผู้มีชุดแต่งกายคือ 200 ชุด” (รายงานโดย อบูดาวูดและอันนะสาอี)

และในกรณีที่ฆาตกรมีหลายคน กล่าวคือ เป็นหมู่คณะ ก็ให้ตัดสินประหารชีวิตฆาตกรทั้งหมด ดังปรากฏว่า :

1. ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้ตัดสินประหารชีวิตชาย 7 คน หรือ 5 คน ที่ร่วมกันสังหารชายผู้หนึ่ง

2. ท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้ตัดสินประหารชีวิตชาย 3 คน ที่ร่วมกันสังหารชายผู้หนึ่ง เป็นต้น

ทั้งนี้บรรดาอิหม่ามทั้ง 4 ท่านได้เห็นพ้องตรงกันว่า จำเป็นต้องประหารชีวิตกลุ่มคณะบุคคลที่ร่วมกันสังหารบุคคลเพียงคนเดียว เพื่อเป็นการปิดหนทางในการอาศัยช่องว่างทางกฏหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการตัดสินเช่นนี้

และในการตัดสินประหารชีวิตฆาตกรนั้น จำต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. ฆาตกรต้องบรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะ

2. ฆาตกรต้องมีสถานภาพด้อยกว่าผู้ถูกฆาตกรรม ท่านนบี กล่าวว่า( لاَيُقْتَلُ حُرٌّبِعَبْدٍ )  “เสรีชนจะไม่ถูกประหารชีวิตด้วยเหตุการสังหารทาส”  (รายงานโดย อบูดาวูด – 4517-)

3. ฆาตกรจะต้องไม่ใช่บิดา , ปู่ หรือผู้สืบสายเลือดสูงขึ้นไป ดังมีรายงานจากท่านอุมัร (ร.ฎ.) ว่า : ฉันเคยได้ยินท่านนบี กล่าวว่า : ( لاَيُقَادُالْوَالِدُبِالْوَلَدِ )  “บิดาจะไม่ถูกประหารชีวิตเนื่องด้วยการสังหารบุตร”  (รายงานโดย อัตติรมิซี -1400-)

4. ฆาตกรจะต้องเป็นผู้ที่สังหารผู้ตายโดยเจตนา หรือเป็นผู้จ้างวาน หรือเป็นผู้ร่วมมือด้วย มิใช่ถูกบังคับ พลาดพลั้งหรือหลงลืม

2) การฆาตกรรมกึ่งเจตนา มีข้อชี้ขาดสองสถานะเช่นกัน กล่าวคือ ทางศาสนาที่เกี่ยวกับ โลกหน้า ถือเป็นสิ่งต้องห้าม มีบาปและต้องได้รับโทษทัณฑ์ในโลกหน้า เพราะฆาตกรมีเจตนาแต่โทษทัณฑ์ต่ำกว่าโทษทัณฑ์ของการฆาตกรรมโดยเจตนา

ส่วนข้อชี้ขาดตามลักษณะอาญาในโลกนี้ คือการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (อัด-ดิยะฮฺ) ขั้นหนักที่บรรดาทายาทฝ่ายบิดาของฆาตกรจำต้องร่วมชดใช้โดยผ่อนชำระในระยะเวลา 3 ปี ดังมีรายงานจากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า :

( شِبْهُ الْعَمْدِ قَتِيْلُ السَّوْطِ وَالْعَصٰا ، فِيْهِ مِائَةٌمِنَ اْلإِ بِلِ ، مِنْهَا أَرْبَعُوْنَ فِى بُطُوْنِهَاأَوْلاَدُهَا )

“กึ่งเจตนาคือ ผู้ที่ถูกสังหารด้วยแส้และไม้เท้า  ในการสังหารนี้คืออูฐ 100 ตัว จาก 100 ตัวนั้นคืออูฐ 40 ตัว ที่ในท้องของมันมีลูก”  (รายงานโดย อัน-นะสาอี)

การฆาตกรรมชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องประหารชีวิต ถึงแม้ว่าญาติของผู้ตายจะร้องขอก็ตาม แต่ให้บรรดาทายาทของฆาตกร (ที่มิใช่บรรพบุรุษหรือบุตรหลาน) จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ระบุมาในหะดีษ

3) การฆาตกรรมโดยผิดพลาด มีข้อชี้ขาดทางศาสนาที่เกี่ยวกับโลกหน้าคือ การอภัยให้ ไม่มีบาปและไม่มีการลงทัณฑ์ เพราะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยผิดพลาดไม่มีเจตนา ดังมีหะดีษระบุว่า :

( إِنَّ اﷲَتَجَاوَزَعَنْ أُمَّتِىْ الْخَطَأَ وَالنِّسْيَانَ وَمَااسْتُكْرِهُواعَلَيْهِ )  “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงอภัยแก่ประชาชาติของฉัน ซึ่งความผิดพลาด , การหลงลืม และสิ่งที่พวกเขาถูกบังคับให้กระทำสิ่งนั้น”  (รายงานโดย อิบนุมาญะฮฺ -2045-)

ส่วนข้อชี้ขาดตามลักษณะอาญาในโลกนี้ คือ จำเป็นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน (อัด-ดิยะฮฺ) เหนือบรรดาทายาทของฆาตกร โดยผ่อนชำระเป็นเวลา 3 ปี และเป็นการจ่ายค่าสินไหมขั้นเบาคือ แบ่งเป็นประเภทอูฐ 5 ชนิด ได้แก่ อูฐ 3 ปี จำนวน 20 ตัว , อูฐ 4 ปี จำนวน 20 ตัว , อายุย่างเข้าปีที่ 3 จำนวน 20 ตัว , อายุย่างเข้าปีที่ 2 จำนวน 20 ตัว และอูฐเพศผู้ย่างเข้าปีที่ 3 จำนวน 20 ตัว (รายงานจากอิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) เป็นหะดีษเมาว์กู๊ฟ)

และมีรายงานจากท่าน อับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) เช่นกันว่า ท่านนบี พิพากษาให้ ผู้เป็นฆาตกรโดยพลาดพลั้งจ่ายเงินจำนวน 1,000 ดีนาร์ หรือ 10,000 ดิรฮัมก็ได้

การไถ่โทษ (อัลกัฟฟาเราะฮฺเนื่องจากการฆาตกรรม

ฆาตกรที่สังหารชีวิตที่ถูกห้ามเอาไว้ถึงแม้จะเป็นทารกในครรภ์ จำต้องไถ่โทษ (อัล-กัฟฟาเราะฮฺ) เนื่องจากการละเมิดสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ ไม่ว่าฆาตกรผู้นั้นจะฆาตกรรมโดยเจตนา , กึ่งเจตนา หรือพลาดพลั้ง และไม่ว่าฆาตกรจะได้รับการอภัยให้จากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่จำต้องจ่ายหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าฆาตกรนั้นจะเป็นเด็ก หรือผู้วิกลจริต หรือเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ และบรรลุศาสนภาวะแล้วหรือไม่ก็ตาม ดังปรากฏในอัลกุรฺอานว่า :

وَمَن قَتَلَ مُؤْمِنًا خَطَئًا فَتَحْرِيرُ رَقَبَةٍ مُّؤْمِنَةٍ وَدِيَةٌ مُّسَلَّمَةٌ إِلَى أَهْلِهِ

“และผู้ใดได้สังหารผู้ศรัทธาโดยผิดพลาดแล้ว ก็ให้ปลดปล่อยทาสผู้ศรัทธา 1 คนให้เป็นไทแก่ตน และจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ถูกส่งมอบไปยังครอบครัวผู้ศรัทธาที่ถูกสังหารนั้น”  (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 92)

การไถ่โทษ (อัล-กัฟฟาเราะฮฺ) มี 2 ประการ ดังนี้

1) การปล่อยทาสหนึ่งคนที่เป็นมุสลิมให้เป็นไท

2) ถ้าไม่มีทาสที่จะปล่อยก็ให้ถือศีลอดเป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน หากไม่สามารถถือ ศีลอดอันเนื่องมาจากเจ็บป่วย การไถ่โทษก็ยังคงเป็นภาระผูกพันอยู่เช่นนั้นจนกว่าจะมีความสามารถไถ่โทษ 1 ใน 2 ประการนั้น ทั้งนี้การไร้ความสามารถจะไม่เคลื่อนย้ายสู่การให้อาหารคนยากจนแต่อย่างใด

การประทุษร้ายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต มี 3 ชนิด คือ

1) การประทุษร้ายด้วยการกระทำให้เกิดบาดแผล เช่น บาดแผลที่ใบหน้าและศีรษะ ที่ทำให้ผิวหนังฉีกขาดและกระดูกโผล่ออกมา (อัลมูฎิฮะฮฺ) ให้กิศ็อศฺ คือกระทำกับผู้ประทุษร้ายเช่นที่เขากระทำกับผู้ถูกประทุษร้าย ยกเว้นผู้ประทุษร้ายได้รับการอภัยก็ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน (อัดดิยะฮฺ) เป็นอูฐจำนวน 5 ตัว

2) การประทุษร้ายด้วยการทำให้อวัยวะขาดหรือเสียหาย คือการที่บุคคลได้ประทุษร้ายต่ออีกบุคคลหนึ่งด้วยการควักลูกตาหรือทำให้ขาหักหรือทำให้แขนขาดเป็นต้น ทั้งนี้หากผู้ประทุษร้ายกระทำโดยเจตนา และมิใช่บิดาของผู้ถูกประทุษร้าย และผู้ถูกประทุษร้ายมีสถานภาพเท่าเทียมกัน ก็ให้ลงโทษ (กิศ็อศฺ) ผู้ประทุษร้ายด้วยการตัดสิ่งที่เขาตัด และทำให้เกิดบาดแผลเหมือนกับที่เขาได้กระทำกับผู้ถูกประทุษร้าย เนื่องจากพระองค์อัลลอฮฺ ทรงดำรัสว่า :

…وَالْجُرُوحَ قِصَاصٌ…الآية   “และบรรดาบาดแผลนั้นคือการกิศ็อศฺ (กระทำเยี่ยงกัน)”   (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 45)

โดยการกิศ็อศประเภทนี้มีเงื่อนไขดังนี้

  • ต้องปลอดภัยจากการกระทำที่เกินเลยในการกิศ็อศ ดังนั้นหากเกรงว่าจะมีการกระทำที่เกินเลย ก็ไม่มีการกิศ็อศแต่อย่างใด
  • การกิศ็อศ (การกระทำเยี่ยงกัน) ต้องเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ถ้าหากกระทำไม่ได้ก็ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน (อัดดิยะฮฺ)
  • อวัยวะที่ต้องการตัดนั้นต้องเหมือนกันทั้งนามชื่อและตำแหน่งของอวัยวะที่เสียหาย ดังนั้นมือขวาจะไม่ถูกตัดในส่วนของมือซ้าย มือจะไม่ถูกตัดในส่วนของเท้า เป็นต้น
  • อวัยวะทั้งสองจะต้องมีความสมบูรณ์และใช้การได้เหมือนกัน ดังนั้นมือที่เป็นอัมพาตจะไม่ถูกตัดในส่วนของมือที่ปกติ เป็นต้น
  • ทุกบาดแผลที่ไม่สามารถกิศ็อศได้เยี่ยงกันก็จำเป็นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น

3) การประทุษร้ายที่ทำให้ประโยชน์การใช้อวัยวะนั้นๆ หรือบางส่วนจากประโยชน์นั้นเสียไป อันได้แก่ การทำให้สติปัญญาสูญเสียไป ทำให้การมองเห็น , การได้ยิน , การพูด , การดมกลิ่นสูญเสียไป , การทำให้สมรรถภาพทางเพศสูญเสียไป และการทำให้ความสามารถในการยืนและการนั่งสูญเสียไป ในทุกกรณีที่กล่าวมาจำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนในอัตราเต็ม (คือ อูฐ 100 ตัว)

ดังมีปรากฏในสาส์นของท่าน อัมร์ อิบนุ ฮัซฺมิน (ร.ฎ.) ซึ่งท่านนบี ได้ใช้ให้เขียนถึงชาวเมืองยะมันว่า : “ผู้ใดที่สังหารผู้ศรัทธาโดยเจตนาพร้อมกับมีพยานรู้เห็นก็จำเป็นจะต้องประหารชีวิตผู้นั้น เว้นแต่ผู้ปกครองของผู้ที่ถูกสังหารจะยอมรับค่าสินไหมทดแทนและในการสังหารผู้อื่นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นอูฐ 100 ตัว (เต็มอัตรา) สำหรับจมูกที่ถูกตัดขาดไปทั้งหมด จำต้องจ่ายค่าสินไหมเต็มอัตรา , สำหรับริมฝีปากทั้ง 2 ข้าง , อัณฑะทั้งสอง ลึงค์ กระดูกสันหลัง ตาทั้งสองข้าง จำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มอัตราเช่นกัน ,

สำหรับเท้าข้างเดียวให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนครึ่งหนึ่ง , สำหรับแผลแตกที่ศีรษะให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนหนึ่งในสาม , สำหรับแผลที่ทะลุเข้าไปภายในจำต้องจ่ายหนึ่งในสาม , สำหรับกระดูกที่แตกหรือหัก จำต้องจ่ายเป็นอูฐ 15 ตัว , สำหรับนิ้วทุกนิ้วจำต้องจ่ายเป็นอูฐ 10 ตัว สำหรับฟันจะต้องจ่ายเป็นอูฐ 5 ตัว และสำหรับบาดแผลที่กระดูกโผล่ออกมา จำต้องจ่ายเป็นอูฐ 5 ตัว….”   (รายงานโดย อัน-นะสาอี -8/57-)

สำหรับค่าสินไหมทดแทนสำหรับสตรีที่ได้รับบาดเจ็บ หรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของนางได้รับความเสียหาย คือนางจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้ประทุษร้ายครึ่งหนึ่งจากผู้ชายได้รับ ดังมีหะดีษระบุว่า :  “บาดแผลของสตรีจะได้รับค่าสินไหมทดแทนครึ่งหนึ่งที่ผู้ชายได้รับ  ไม่ว่าบาดแผลนั้นจะน้อยหรือมากกว่าก็ตาม”   (รายงานโดย อัล-บัยฮะกี)

อนึ่งในกรณีการฆาตกรรมที่จำต้องมีการประหารชีวิตฆาตกรนั้นกระทำได้ 2 วิธี คือ

1) ด้วยการสารภาพ (อัลอิกร็อรฺ) ของฆาตกร

2) มีพยานที่เป็นชายที่มีความยุติธรรม 2 คนยืนยัน

ส่วนกรณีที่จำเป็นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนนั้น ยืนยันได้ด้วยสิ่งดังต่อไปนี้

1) การสารภาพของฆาตกรหรือผู้ประทุษร้าย

2) มีพยานที่เป็นชายที่มีความยุติธรรม 2 คน ยืนยัน

3) มีพยานเป็นชาย 1 คน และสตรี 2 คน ทั้งนี้เพราะสตรีจะถูกยอมรับในการเป็นพยานของพวกนางในเรื่องทรัพย์สิน โดยการเป็นพยานของสตรี 2 คน จะแทนการเป็นพยานของชาย 1 คน

4) มีพยานเป็นชาย 1 คน และมีการสาบานของโจทก์

5) ผู้พิพากษารู้ถึงสิ่งดังกล่าว

อนึ่ง การดำเนินการลงโทษในคดีความลักษณะอาญาไม่ว่าจะเป็นโทษประหารชีวิตหรือการกระทำเยี่ยงกันนั้นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีอำนาจ (อิหม่ามหรือผู้ปกครอง) เมื่อผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาได้พิจารณาคดีความแล้ว ตัดสินให้ประหารชีวิตฆาตกร ผู้ปกครองหรือทายาทของผู้ถูกสังหารมีสิทธิร้องขอจากผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาให้ตนดำเนินการประหารชีวิตฆาตกรด้วยตนเอง โดยมีเงื่อนไข 2 ประการ คือ

1) การดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปตามคำอนุญาตของผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษา ดังนั้นหากผู้ปกครองหรือทายาทของผู้ถูกสังหารด่วนกระทำการลงมือประหารชีวิตฆาตกรโดยมิได้ขออนุญาตจากผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาก่อน ถือว่ามีความผิด โดยต้องคดีลหุโทษ (อัตตะอฺซีรฺ) ตามดุลยพินิจของผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษา เช่น จำคุก หรือ เฆี่ยน แต่ไม่มีการประหารชีวิตผู้กระทำผิดในกรณีนี้

2) การดำเนินการนั้นต้องเป็นกรณีของโทษประหารชีวิตที่มีการฆาตกรรม ส่วนกรณีการลงโทษเยี่ยงกันในคดีประทุษร้ายนั้น ผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้ดำเนินการลงโทษเอง