เลขาธิการสพฐ.ยันนักเรียนสวมฮิญาบได้ทั่วประเทศ

ปัญหาฮิญาญโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ขอนำคำสัมภาษณ์นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)มานำเสนอ

นายกมล เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ว่า ตนได้เน้นย้ำให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯทั่วประเทศ ให้กำชับไปยังสถานศึกษาขอให้เตรียมความพร้อมในช่วงเปิดภาคเรียนที่1ปีการศึกษา 2558 ทั้งในด้านความปลอดภัยของอาคารเรียน โต๊ะเก้าอี้ เครื่องเล่นที่ชำรุดทรุดโทรม เป็นต้น

 รวมทั้งให้ประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมกันอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางช่วงเปิดเรียนด้วย ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำดูเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน การอบรมพัฒนาครู จัดตารางเรียน หนังสือและอุปกรณ์การเรียนการสอนของเด็กจะต้องมีความพร้อม

ขณะเดียวกันยังกำชับ  ให้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและขับเคลื่อนการศึกษาตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งให้ความสำคัญในหลายเรื่อง อาทิ การอ่านออกเขียนได้ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1การปรับระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษใหม่ทั้งระบบ ซึ่งต่อไปคนไทยต้องใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้กำชับผอ.เขตพื้นที่ฯ เกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนด้วย โดยเฉพาะการแต่งกายของนักเรียนมุสลิม ซึ่งมีความเข้าใจผิดจากกรณีโรงเรียนบ้านในหยง จังหวัดพังงา นักเรียนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามแต่มีข่าวว่าผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ให้นักเรียนสวมฮิญาบมาเรียน จนเกิดมีการประท้วงผอ.โรงเรียนจนกระทั่งทางผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พังงา ต้องย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนอื่นเป็นการชั่วคราวนั้น

เบื้องต้นได้รายงาน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ทราบแล้ว และมอบนโยบายไปยัง ผอ.สพป.พังงาด้วยว่าการแต่งกายชุดนักเรียนนั้น ให้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ซึ่งระเบียบดังกล่าวครอบคลุมการกำหนดการแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนในภาพรวม โดยเฉพาะในข้อ 12 เครื่องแบบนักเรียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่น

————————–
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 6  แห่งพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน  พ.ศ. 2551  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ข้อ ๑๒  เครื่องแบบนักเรียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่น นอกจากสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

นักเรียนชาย

 

(๑) เสื้อ ผ้าสีขาว แบบคอเชิ้ต แขนสั้น

(๒) เครื่องหมาย ใช้อักษรย่อ สัญลักษณ์หรือเข็มเครื่องหมายของสถานศึกษาตามที่สถานศึกษากำหนด ปักหรือติดที่อกเสื้อเบื้องขวา

(๓) กางเกง ใช้ผ้าสีเดียวกันกับสีผ้าของกางเกงนักเรียนทั่วไปที่ใช้ในสถานศึกษานั้นขายาวระดับตาตุ่ม ปลายขาพับเข้าด้านใน

(๔) เข็มขัด หนังสีดำหรือสีน้ำตาล หัวเข็มขัดเป็นโลหะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าชนิดหัวกลัด สำหรับผู้ที่เป็นลูกเสือจะใช้เข็มขัดลูกเสือแทนก็ได้ หรือหัวเข็มขัดเป็นตราของสถานศึกษา

(๕) รองเท้า หนังหรือผ้าใบสีดำหรือสีน้ำตาล แบบหุ้มส้นชนิดผูก

(๖) ถุงเท้า สั้นสีขาว สีน้ำตาล หรือสีดำ

 

นักเรียนหญิง

 

(๑) เสื้อ ผ้าสีขาวคอปกบัว ผ่าด้านหน้าตลอด แขนยาว ปลายแขนจีบรูดมีสาบกว้างไม่เกิน ๕ เซนติเมตร ตัวเสื้อยาวคลุมสะโพก ไม่รัดรูป

(๒) เครื่องหมาย ใช้อักษรย่อ สัญลักษณ์หรือเข็มเครื่องหมายของสถานศึกษาตามที่สถานศึกษากำหนด ปักหรือติดที่อกเสื้อเบื้องขวาและที่ผ้าคลุมศีรษะ

(๓) ผ้าคลุมศีรษะ ใช้ผ้าสีขาวเกลี้ยงไม่มีลวดลาย หรือสีเดียวกันกับสีผ้าของกระโปรง สี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวด้านละ ๑๐๐ – ๑๒๐ เซนติเมตร ขณะสวมใส่เย็บติดตลอดตั้งแต่ใต้คางจนถึงปลายมุมผ้า

(๔) กระโปรง ใช้ผ้าสีเดียวกันกับสีผ้าของกระโปรงนักเรียนทั่วไปที่ใช้ในสถานศึกษานั้น แบบสุภาพ พับเป็นจีบข้างละสามจีบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อสวมแล้วชายกระโปรงคลุมข้อเท้า

 

(๕) รองเท้า หนังหรือผ้าใบสีดำ มีสายรัดหลังเท้าหรือแบบหุ้มส้น หุ้มปลายเท้ามีส้นสูงไม่เกิน ๒ นิ้ว ไม่มีลวดลาย

(๖) ถุงเท้า สั้นสีขาว ไม่มีลวดลาย ปลายถุงเท้าไม่พับ

นักเรียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่นนอกจากสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อาจเลือกแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามวรรคหนึ่งหรือตามแบบที่สถานศึกษากำหนดได้ตามความสมัครใจ
————————–

นอกจากสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้น โรงเรียนไม่สามารถสั่งห้ามหรืองดเว้นได้ แต่กรณีหากมีความจำเป็นที่อาจจะไม่สะดวกต่อการทำกิจกรรมระหว่างเรียน อาทิ การเล่นกีฬา ก็ให้มีการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา

“สพฐ.ก็ได้ลงไปหารือประเด็นดังกล่าวร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพังงา และผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งตอนนี้ได้ข้อสรุปและเป็นข้อยุติแล้ว ยืนยันว่าเด็กนักเรียนมุสลิมสามารถสวมฮิญาบได้ไม่มีการสั่งห้าม แต่ขณะนี้ก็ยังพบว่ามีการนำเสนอข่าวและมีกลุ่มบุคคลบางคนยังนำประเด็นนี้มาพูดต่อ มีการติดโปสเตอร์ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะประเด็นนี้ยุติแล้ว หน่วยงานราชการทำตามข้อเรียกร้อง ก็ไม่ทราบเจตนาว่าทำสิ่งเหล่านี้ด้วยเหตุใด ซึ่งหากยังมีการกระทำลักษณะนี้ต่อไปเข้าใจว่าทางฝ่ายปกครองอาจจะเข้ามาติดตามต่อ”