สุดยอด!มอ.ปัตตานีเป็นเจ้าภาพจัดแข่งดาราศาสตร์โอลิมปิก เยาวชน 46 ประเทศ 500 คนร่วมแข่ง(มีคลิป)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ณ จังหวัดภูเก็ต

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ในวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจัดโดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-21 พฤศจิกายน 2560 โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จาก 46 ประเทศ รวม 500 คน เข้าร่วมการแข่งขัน

วันนี้ (19 ตุลาคม 2560) มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ณ โรงแรมแมนดาริน แมนเจนบาย เซ็นเตอร์พ็อยท์ สามย่าน กรุงเทพฯ โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรองประธานมูลนิธิ สอวน. ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) และรองศาสตราจารย์ ดร. ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้ร่วมแถลงข่าว

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรองประธานมูลนิธิ สอวน. กล่าวถึงความเป็นมาของการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการว่า การจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2502 ในสาขาคณิตศาสตร์ หลังจากนั้นได้จัดการแข่งขันในวิชาฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์ ชีววิทยา ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ และการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศครั้งแรกในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 30 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงให้ การสนับสนุน ในปัจจุบันประเทศไทยส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันครบทุกสาขาวิชา และยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ในวาระสำคัญๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเจ้านายในราชวงศ์จักรีหลายครั้ง และในครั้งนี้ ในปี 2560 ประเทศไทยได้รับเชิญให้เป็นเจ้าภาพแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-21 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดภูเก็ต โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 โดยใช้สถานที่โรงแรมดวงจิตต์รีสอร์ทแอนด์สปา เป็นสถานจัดพิธีเปิด ที่พักของนักเรียน ผู้เข้าแข่งขัน สถานที่สอบภาคทฤษฎี ภาควิเคราะห์ข้อมูล และภาคสังเกตการณ์กลางวัน ใช้โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช เป็นสถานที่พักของผู้ควบคุมทีม สถานที่พิจารณาข้อสอบและจัดทำข้อสอบ และใช้สนามกีฬาเทศบาลตำบลราไวย์ เป็นสถานที่สอบภาคสังเกตการณ์ และแหลมพรหมเทพ เป็นสถานที่สอบปฏิบัติการดูดาว

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งแรก เมื่อปี 2550 โดยมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ร่วมรับผิดชอบภาคสังเกตการณ์ การสอบแข่งขันในครั้งนี้นับว่าเป็นสนามการแข่งขันทางด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศต่าง ๆ 46 ประเทศ ๆ ละไม่เกิน 5 คน และ

อาจารย์ผู้ควบคุมทีมประเทศละไม่เกิน 2 คน ประกอบด้วย ประเทศอาร์มีเนีย ,บังกลาเทศ , เบลารุส , บราซิล , บัลแกเรีย , แคนาดา , จีน , โคลัมเบีย , โครเอเชีย , ไซปรัส , เช็กเกีย , เอสโตเนีย ,จอร์เจีย , กรีซ , ฮังการี , อินเดีย , อินโดนีเซีย , อิหร่าน , จอร์แดน , คาซัคสถาน , คีร์กีซสถาน , ลาว , ลิทัวเนีย ,มาเลเซีย , มาลี , เม็กซิโก , เนปาล , ปากีสถาน , ฟิลิปปินส์ , โปแลนด์ , โปรตุเกส , กาตาร์ , โรมาเนีย , รัสเซีย , เซอร์เบีย , สิงคโปร์ , สโลวาเกีย , สโลวีเนีย , เกาหลีใต้ , ศรีลังกา , ไทย , ยูเครน , สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ , สหราชอาณาจักร , สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เป็นต้น โดยมีการสอบทั้งภาคทฤษฎี ภาควิเคราะห์ข้อมูล การสอบภาคสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นการดูดาวจริงบนท้องฟ้า โดยใช้ กล้องโทรทรรศน์ และการใช้โดมท้องฟ้าจำลอง ซึ่งการแข่งขันมิได้มุ่งเน้นผลคะแนนและเหรียญรางวัลแต่เพียงอย่างเดียว แต่นักเรียนผู้เข้าสอบจะได้รับประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับนักเรียนจากประเทศอื่น ๆ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ระหว่างกัน ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคตอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เยาวชนไทยที่มีศักยภาพสูงทางปัญญาได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีส่วนโน้มน้าวให้เยาวชนไทย หันมาให้ความสนใจศึกษาวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ช่วยให้ครูและนักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงจากการแลกเปลี่ยนความรู้กับครูและเยาวชนจากนานาประเทศ นับเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนในประเทศไทยหันมาให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สถาบันการศึกษา ครูอาจารย์ และนักวิชาการ ยังให้ความสนใจจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาดาราศาสตร์ในสถานศึกษามากอีกด้วย

“นับเป็นโอกาสดีที่จังหวัดภูเก็ตมีโอกาสต้อนรับเยาวชนผู้เข้าแข่งขันและผู้ควบคุมทีมจากนานาประเทศครั้งนี้ นอกจากจะได้นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวอันสวยงามซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับโลกแล้ว ยังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ อาหารพื้นเมืองที่หลากหลาย รสชาติอร่อย พร้อมที่นำเสนอสู่สายตาชาวต่างชาติ ให้สมกับการที่จังหวัดภูเก็ต ได้รับเกียรติประกาศเป็นเมือง

สร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร หรือ City of Gastronomy ของยูเนสโกอีกด้วย คาดหวังอีกว่าผู้เข้าร่วมการแข่งขัน จะมีความประทับใจในการต้อนรับและความสุขที่ได้มาเยือนจังหวัดภูเก็ต และจะเผยแพร่ความประทับใจนี้ไปยังบุคคลอื่นและเชิญชวนให้กลับมาเยือนภูเก็ต “ไข่มุกแห่งอันดามัน” อีกครั้งหนึ่ง” คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเพิ่มเติม