ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความ กรณี ออง ซาน ซู จี แถลงกรณีปัญหา โรฮิงญว่า เมื่อวานนี้ (19/9/2017) หลังจากที่ทั้งโลกได้ฟังคุณอองซาน ซูจีแถลงเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา-เบงกาลี ก็มีสื่อสารมวลชนจำนวนหนึ่งทยอยโทรมาขอรับฟังความคิดเห็น ผมตอบทุกท่านไปว่า ผมเห็นใจและชื่นชมคุณอองซานซูจีครับ หลายๆ ท่านประหลาดใจ เพราะคนจำนวนมากกำลังโกรธ ผิดหวัง ระคนกับเสียใจ หลายๆ คนถึงกับกล่าวว่าน่าจะมีการริบคืนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคืนจากเธอ แต่ผมไม่เห็นอย่างนั้นครับ
ตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งของเธอและรัฐบาลพรรค NLD เมื่อเมษายน 2016 ทุกฝ่ายแสดงความกังวลว่า ถ้ารัฐบาล NLD กับกองทัพเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน นั่นหมายถึงกระบวนการสันติภาพภายในประเทศ กระบวนการปฏิรูประบบการเมือง กระบวนการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปิดประเทศรอบล่าสุดในปี 2010 จะพังครืนลงมา หรืออาจะนำไปสู่การรัฐประหารและทำให้กองทัพขึ้นมายึดอำนาจฉุดให้เมียนมากลับสู่ระบอบเผด็จการและปิดประเทศอีกครั้ง ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้และเป็นพันธกิจสำคัญอย่างยิ่งของคุณอองซานและรัฐบาล NLD เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นคือ การพัฒนาประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ และการสร้างความปรองดองกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศเมียนมา
หากเราไปถามสื่อเมียนมา คำตอบที่หลายๆ คนจะประหลาดใจก็คือ ในช่วงเวลาหนึ่งปีเศษๆ ที่ผ่านมา กองทัพและรัฐบาล NLD มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันอย่างยิ่ง การเดินหน้ากระบวนการสร้างสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้รับการช่วยเหลือจากกองทัพ ในขณะที่เรื่องเศรษฐกิจ แม้จะตะกุกตะกักในช่วงแรก แต่สถานการณ์ก็ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงต้นของปี 2017 ที่ผ่านมา
แน่นอน หากกองทัพไม่ยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มเบงกาลี-โรฮิงญา ตามที่กฎหมายตราไว้ในปี 1982 และเล็งเห็นความจำเป็นในเรื่องความมั่นคงของชาติจากภัยการก่อการร้าย และต้องการใช้กำลังเข้าปราบปราม และถ้ารัฐบาล NLD ซึ่งนำโดยคุณอองซานต่อต้านแข็งขืน นั่นหมายความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลก็ต้องขาดสะบั้นกันอีกครั้ง
เท่านั้นยังไม่พอ ประชาชนเมียนมาจำนวนหนึ่งเองก็หลงเชื่อตามการปลุกระดมของพระหัวรุนแรงในลักษณะ Fundamentalist ที่นำโดยมหาวีระธูที่ออกมาเรียกร้องให้ชาวพุทธเกลียดชังชาวมุสลิมอีกด้วย นั่นหมายถึง การเข้าไปช่วยเหลือชาวเบงกาลี-โรฮิงญา แม้จะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของศีลธรรม ก็อาจถูกตีความได้ว่าเป็นการ เลือกข้าง เข้าข้างมุสลิม และยิ่งไปเปิดช่องให้กลุ่มคลั่งศาสนาพุทธหัวรุนแรงแหล่านี้ใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างความแตกแยกเพิ่มขึ้นอีก
มากกว่านั้น กลุ่มเบงกาลี-โรฮิงญา ยังมีกลุ่มก่อการร้ายในนาม Arayan Rohingya Salvation Army (ARSA) ที่มีข่าวการก่อการร้ายและการวางแผนการก่อการร้ายอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย นั่นทำให้หลายๆ ประเทศก็ออกมาประสานเสียงในการไม่ยอมรับและไม่ต้องการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเบงกาลี-โรฮิงญาเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลอินเดียก็กำลังทำนโยบายในการเนรเทศคนกลุ่มนี้ออกจากประเทศ และออสเตรเลียเองก็ออกมาสนับสนุนด้วยว่าหากกลุ่มเบงกาลี-โรฮิงญาจะเกิดทางออกจากประเทศออสเตรเลีย รัฐบาลออสเตรเลียจะให้เงินสนับสนุน นั่นคือจ้างให้พวกเขาเนรเทศตัวเองนั่นเอง ปรากฎการณ์เหล่านี้ล้วนทำให้เห็นว่า เพื่อนบ้านของเมียนมาอย่างอินเดีย และผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินของเมียนมาอย่างออสเตรเลียเองก็ไม่เอาด้วยกับการก่อการร้าย
จะเห็นได้ว่า ปัญหาโรฮิงญา-เบงกาลีเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนทั้งในมิติประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม ศาสนา การเมือง ความมั่งคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนยากเกินกว่าที่อองซานออกมาเคลื่อนไหวคนเดียวแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด
ในความคิดของผม ผมคิดว่าคุณอองซานซูจี กำลังเสียสละครับ เธอยอมโดนด่าทอ โดนเกลียดชัง หรือแม้แต่อาจจะถูกริบคืนรางวัลโนเบล ยอมแบกรับความเกลียดชังทั้งหมดเอาไว้โดยการที่เธอนิ่งเงียบ ไม่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องเบงกาลี-โรฮิงญา เพราะการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้เพียงกลุ่มเดียว อาจนำไปสู่ความล่มสลายของประเทศเมียนมาอีกรอบ ก็เป็นไปได้