องคมนตรี ชี้แนวทางสุดโต่งรุนแรง ไม่ใช่แนวทางอิสลาม แต่ทำความเสียหายต่อหลักการอิสลาม

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ได้ปาฐกาฐาพิเศษ เปิดการสัมมนา อิสลามศึกษา : พลังขับเคลื่อนการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ดร. Koutoub Moustapha Sano รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดี สาธารณรัฐกินีเชค Abdul Karim Salim Al-Soliman Khasawneh ประธานยุติธรรมอิสลามสูงสุด (มุฟตี) ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน

ท่านแขกผู้มีเกียรติ
ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทุกท่าน

ในนามรัฐบาลราชอาณาจักรไทย กระผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวสุนทรพจน์ต่อท่านแขกผู้มีเกียรติในงานสัมมนาอิสลามนานาชาติ ครั้งที่ 4 “อิสลามศึกษา : พลังขับเคลื่อนการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” กระผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จัดขึ้น ณ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ วัฒนธรรมการเรียนรู้ การจัดการศึกษาอิสลามมาอย่างยาวนาน ผมขอสวัสดีและกล่าวยินดีต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็น เอกอัครราชทูต รัฐมนตรี มุฟตี นักวิชาการมุสลิมผู้มีชื่อเสียง นักวิจัย นักการศึกษา ผู้แทนรัฐบาล นักธุรกิจและสื่อมวลชน จากหลากหลายประเทศด้วยความจริงใจ ขอชื่นชมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้เสียสละทุ่มเทกำลังความสามารถในการจัดการสัมมนานานาชาติที่มีคุณค่ายิ่งในครั้งนี้

ท่านผู้มีเกียรติ
ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทุกท่าน

การจัดสัมมนานานาชาติครั้งนี้ทำให้ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านได้มารวมกัน ณ สถานที่แห่งนี้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกท่านที่จะได้ร่วมกันแสดงพลังในการเผชิญกับอุปสรรคที่ท้าทายยิ่งของการจัดการศึกษาอิสลามในยุคปัจจุบัน ด้วยพลังของปราชญ์นักวิชาการจะทำให้เราสามารถพัฒนาและจัดการศึกษาอิสลามที่สอดคล้องกับหลักการสายกลาง ที่มีดุลยภาพ มีเป้าหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เราเป็นประชาชาติเดียวกัน ที่ต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ผมมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งยวดว่าว่าการสัมมนาครั้งนี้จะทำให้เราสามารถหาแนวทางวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการ เผชิญหน้ากับความท้าทายในการปฏิรูป การพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาจากหลักทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ให้ตรงตามความคาดหวังของผู้สอนผู้เรียนรวมทั้งสามารถสร้างแรงบันดาลใจ การประกอบอาชีพเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้ในอนาคต ความพยายามข้างต้นส่งเสริมให้เกิดระบบการศึกษาวิศัยทัศน์ของการศึกษาอิสลามในโลกปัจจุบัน

ในปัจจุบันได้เกิดกระแสความสนใจเกี่ยวกับอิสลาม และการพัฒนาการศึกษาอิสลาม ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสภาพความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน ความสนใจดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาอิสลาม ทั้งในด้านแนวคิดรวมไปถึงการจัดการเรียนการสอน ส่งผลให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการพัฒนาและได้มีการนำแนวทางบูรณาการและสหวิทยาการมาปรับใช้เพื่อทำความเข้าใจบทบาทของการศึกษาอิสลามในการพัฒนาและการสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ไม่ว่าในประเทศมุสลิม หรือไม่ใช่ประเทศมุสลิม

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

งานสัมมนาอิสลามนานาชาติ ในหัวข้อ “อิสลามศึกษา : พลังขับเคลื่อนการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” เป็นการจัดสัมมนานาชาติครั้งที่ 4 โดย วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นการต่อยอดสัมมนาที่ได้จัดขึ้นก่อนหน้าทั้ง 3 ครั้ง นั่นคือ สัมมนา ครั้งที่ 3 “ค่านิยมอิสลามในสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง (Islamic Values in a Changing World) ปี 2015” สัมมนาครั้งที่ 2 “อิสลามศึกษาในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง: โอกาสและความท้าทาย (Islamic Studies in a Changing World: Challenges and Opportunities) ปี 2013” และสัมมนาครั้งที่ 1 “บทบาทของอิสลามศึกษาในสังคมโลกาภิวัตน์ (Role of Islamic Studies in Post-globalized Society)  ปี 2010” แสดงให้เห็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษาอิสลามให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างสังคมสันติสุข

ในการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการเปิดเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดอิสลามศึกษาที่หลากหลาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดพื้นที่ในการกลั่นกรองประสบการณ์จากสังคมมุสลิมและสังคมไม่ใช่มุสลิม เพื่อให้เราได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาและสนับสนุนความสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคม ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันการศึกษานักวิชาการ จะสามารถเผยแพร่ค่านิยมสูงสุดที่กล่าวถึงข้างต้น วัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันและสันติสุขที่ยั่งยืน การสัมมนาครั้งนี้ยังเป็นสนามของการสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง ที่เกี่ยวกับการศึกษาอิสลามและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างสังคมที่แตกต่าง บนฐานอิสลามสายกลาง ความสมดุล อยู่บนบริบทที่เป็นจริง และการบูรณาการระหว่างการสอนและการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิธีการแสวงหาความรู้ร่วมสมัย ขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าองค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษา นักวิชาการ องค์กรการกุศล นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์และนักคิดทุกคนร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำเพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้น

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทุกท่าน

เราต่างทราบกันดีว่าอุปสรรคของสันติสุขของโลกใบนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอิสลาม แต่เป็นความพยายามของขบวนการที่มีแนวคิดที่สุดโต่ง ใฝ่หาความรุนแรง การขาดความอดทนอดลั้น บรรดาพันธมิตรความสุดโต่งเหล่านั้น ความพยายามในการแพร่ขยายแนวคิดดังกล่าวนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับอิสลาม และไม่สอดคล้องกับความคิดที่แท้จริงของมุสลิมอีกหลายพันล้านคนในโลกนี้แต่ประการใด พวกเขาพยายามที่จะสร้างความเสียหายต่อหลักคำสอนของอิสลาม การปฏิเสธแบบอย่างที่ดีงามจากศาสนทูตมูฮัมหมัด และการละเมิดหลักการพื้นฐานที่สำคัญของบทบัญญัติอิสลาม

ด้วยเหตุนี้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องมีส่วนร่วม ในการสนับสนุนการพิจารณา การพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมุสลิมที่สามารถยืนอยู่บนความคาดหวังทั้งของศาสนาและประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นที่จะต้องร่วมกันสร้างพันธมิตรในการพัฒนา โดยร่วมกันทบทวนหลักสูตรสาขาอิสลามศึกษาที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อเป็นการรับรองว่าหลักสูตรที่มีอยู่นั้นเท่าทันกับยุคสมัย เชื่อมโยงกับความเป็นจริง โดยไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญ ความเคารพต่อความเชื่อ ความศรัทธาอันบริสุทธิ์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคม

ท่านแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

อิสลามให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาหาความรู้ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้ระบุไว้ถึงความสำคัญของการศึกษาในอิสลามไว้ในประโยคแรกด้วยคำว่า “อิกเราะอฺ” เป็นคำสั่งใช้ให้ปฏิบัติซึ่งในภาษาอาหรับหมายถึง “จงอ่าน” และครอบคลุมความหมาย ”การเรียนรู้” “การสืบค้น” “การค้นหาความจริง” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการอ่าน (ความรู้) นั้นคือแนวทางที่จะสามารถเข้าถึงผู้ทรงสร้างได้

สำหรับความรู้นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความรู้ศาสนา และความรู้ตามความต้องการของสังคม โดยสำหรับผู้ปกครองแล้ว ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องขัดเกลาและให้การศึกษาแก่บุตรหลาน ให้เขามีความรู้และมีศักยภาพบนทั้งสองสายธารแห่งปัญญา ทั้งศาสนาและความรู้ที่จะยังประโยชน์ต่อความต้องการของสังคม เพื่อให้เขาเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในศาสนาในขณะเดียวกันเขาสามารถที่จะทำหน้าที่ในฐานะ แพทย์ วิศวกร นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ หรือนักการเกษตร เป็นต้น ในประวัติศาสตร์มุสลิมได้อุทิศตัวเองและความรู้ที่ยังประโยชน์แก่สังคมในหลากหลายสาขาวิชา ช่วยสร้างคุโนปการต่อมนุษยชาติมาจนถึงปัจจุบัน ดังกล่าวจึงไม่มีข้อสงสัยใดเลยว่าอิสลามนั้นมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาและการแสวงหาความรู้ สำหรับการสร้างสันติภาพนั้นจะต้องพยายามสร้างพลังขับเคลื่อนทั้งความคิดและการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ร่วมกันเผยแพร่สารอิสลามที่แท้จริงที่มีพื้นฐานของการสร้างสันติภาพ ความอดทน และความเคารพซึ่งกันและกัน ตามที่ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งทั้งในอัลกุรอานและอัลฮาดีษ

ในการสร้างสันติสุข ความสามัคคีปรองดองนั้นเราต้องละทิ้งความคิดที่ว่าศาสนาอื่น ไม่ได้มีความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพแต่อย่างใด ในความเป็นจริง ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ผู้นำศาสนาของทุกศาสนายืนอยู่บนหนทางแห่งความสันติสุขร่วมกันกับเพื่อมนุษย์ทุกคน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องร่วมมือกันเพื่อเป็นหลักประกันว่าศาสนาเป็นแหล่งของการเยียวยา ความดีงามและเป็นสิริมงคลมากกว่าความขัดแย้งและการทำลาย ด้วยกับการใช้เครื่องมือที่ดีงาม ถูกต้องเหมาะสม เราจะสามารถประกันได้ว่าไม่มีผู้ใดที่จะออกไปจากอ้อมกอดของสังคมในขณะที่เราจะขับความสุดโต่งให้พ้นไป กระผมเชื่อมั่นว่าอิสลามศึกษาจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบรรลุเป้าหมายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและการพัฒนาในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

ด้วยกระแสการพัฒนาของนักการศึกษาและนักวิชาการที่ต้องการปรับอิสลามศึกษาให้เข้ากับยุคสมัยโดยยังคงหลักความคิดดั้งเดิมของอิสลาม จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการพัฒนาหลักสูตรที่ผสมผสานระหว่างการพัฒนาความรู้และการพัฒนาทักษะควบคู่กัน ในขณะที่ยังคงรักษาการตีความหมายของหลักการดั้งเดิมไว้อย่างหนักแน่นและมีการปรับเปลี่ยนวิธีการถ่ายทอดสู่ผู้เรียนที่เท่าทันกับยุคสมัยและสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้สังคมได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของหลักการอิสลามที่บริสุทธ์ที่ไม่ใช่เพียงการสัมผัสแต่เปลือกนอกของอิสลาม ในขณะที่ทุกท่านใช้ทุกกำลังความสามารถในการปฏิรูปพัฒนาการศึกษาให้เท่าทันนั้นเราจะต้องไม่ลืมแก่นแท้ของการจัดการศึกษาอิสลาม ที่เป็นการสอนมุ่งเป้าไปที่หลักคุณธรรมและศีลธรรมอันดีงาม ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพเพื่อผลสำเร็จสูงสุด
จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด รัฐบาลไทยเห็นคุณค่าของการพัฒนาอิสลามศึกษาและมุ่งมั่นในการสนับสนุนและผลักดันให้ศาสตร์อิสลามศึกษาสามารถบูรณาการ สร้างความความเชื่อมโยงกับทุกศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาบัณฑิตในสาขาอิสลามศึกษาให้มีความรู้พื้นฐานในสาขาวิชาที่เข้มแข็ง ในขณะเดียวกันเขาจะมีทักษะและศักยภาพที่เป็นเลิศตามที่สังคมต้องการควบคู่กัน ไม่เพียงในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่รวมไปถึงศาสตร์อื่น ๆ ด้วย เราจึงมีจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องใช้แนวทางการบูรณาการเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายข้างต้น ขอเชิญชวนให้นักวิชาการ นักการศึกษามุสลิมได้ใช้ความพยายามในพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษา ให้สอดคล้องกับความสนใจในอาชีพและความต้องการของตลาดแรงงาน เราจะต้องเห็นบัณฑิตของเราสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง และมีศักยภาพที่จะเข้าถึงสถานที่ทำงานที่สามารถเป็นหลักประกันในอาชีพ และเราก็ไม่ละทิ้งจุดแข็งที่สำคัญในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมภาย เราหวังอีกว่านักศึกษาในสาขาอิสลามศึกษาจะสามารถเป็นความหวังและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนของตนเอง รการพัฒนาประเทศชาติและในภาพรวมสังคม โดยการอุทิศความรู้และความสามารถของตนเอง โดยเฉพาะความรู้อิสลามที่บริสุทธิ์ในการเติมเต็มสิ่งที่สังคมต้องการ สิ่งนี้จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการจัดการศึกษาอิสลามอีกประการหนึ่ง ของการสนับสนุนให้บัณฑิตพัฒนาสังคมบนฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขร่วมกันกับสังคมและประชาชนในชาติของตน

ท้ายนี้ ท่านผู้มีเกียรติ สุภาพสตรี และสุถาพบุรุษทุกท่าน ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่างานสัมมนานานาชาติในครั้งนี้จะเป็นพื้นที่ในการประกาศถึงการปฏิรูปการศึกษาที่มีฐานมาจากค่านิยมร่วมของอิสลามและสังคมโดยรวม และการขับเคลื่อนด้วยกับการศึกษาแนววิพากษ์ ที่เหมาะสมกับเยาวชนรุ่นใหม่ และสอดคล้องกับสังคมร่วมสมัย ทั้งหมดนี้จะก่อเกิดและสร้างความหวังที่ทุกท่านต้องการได้ด้วยกับการใช้อิสลามศึกษาที่มีการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ

ในโอกาสของความสันตินี้ ผมของประกาศเปิดงานสัมมนาอิสลามนานาชาติ ครั้งที่ 4 “อิสลามศึกษา : พลังขับเคลื่อนการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” และหวังให้งานสัมมนานี้จประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังทุกประการ ขอความสันติจงประสบแด่ท่านทุกคน