แม่ทัพภาค4ประกาศเตือน 3 จังหวัดให้ที่พักคนร้ายโทษหนัก

18 ก.ค.60 พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4(มทภ.4) และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ออกประกาศประชาสัมพันธ์เตือนประชาชน เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ โดยประชาชนที่ให้ที่พักพิงช่วยเหลือผู้ก่อเหตุรุนแรง มีโทษทางกฎหมาย

ประกาศระบุว่า ‘เจ้าของที่พักอาศัย หรือสถานที่ มีโทษทางกฎหมาย อัตราโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือมีส่วนร่วมกระทำความผิด จะได้รับโทษที่สูงขึ้น’ ทั้งนี้ หากพบบุคคลแปลกหน้าหรือบุคคลต้องสงสัยเข้ามาในเขตที่พักของตน ให้รีบแจ้งผู้นำท้องที่หรือเจ้าหน้าที่รัฐทันที

ทั้งนี้หลังวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ได้เข้าติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา จำนวน 5 หมาย ในพื้นที่ ต.บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา จนเกิดการปะทะ ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังได้ควบคุมตัวเจ้าของบ้าน ซึ่งให้ที่พักพิงกับคนร้ายส่งฟ้องศาลดำเนินคดี และศาลจังหวัดยะลา ได้มีคำสั่งพิพากษาตัดสินลงโทษเจ้าของบ้านไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา

ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า(โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า สำหรับผู้ใดให้การช่วยเหลือให้กับผู้ก่อเหตุรุนแรงนั้น ย่อมมีความผิด ซึ่งขณะนี้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ทำป้ายประกาศทั่วทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้มีการควบคุมตัว นายสือดี มาหะมะ และนางสีตีพาตีเมาะ เซ็งกะจรี 2 สามีภรรยา ที่ได้ให้การช่วยเหลือและให้ที่พักพิงแก่ นายลุกมาน มะดิง แกนนำที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลซักถามทั้งสองให้การยอมรับว่าเป็นแนวร่วมจริง และมีหน้าที่จัดเก็บเงินรายเดือนจากสมาชิกแนวร่วมในการพื้นที่และให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยเฉพาะนายลุกมาน ได้มาพักที่บ้านตน 2 ครั้งแล้ว ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งฟ้องคดีตามกฏหมาย โดยทางศาลจังหวัดยะลา ได้มีคำสั่งพิพากษาตัดสินโทษให้จำคุกทั้ง 2 คนๆละ 3 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ตามคดีดำที่ 1980/2560 และคดีแดงที่ 1972/2560 ลงวันที่ 7 ก.ค.2560

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายครั้งที่ผ่านมา พบว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงมักจะเข้ามาอาศัยพักพิง และหลบซ่อนเพื่อเตรียมก่อเหตุความรุนแรงที่บ้านญาติ แนวร่วม และผู้ให้การสนับสนุน ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนอกจากจะได้รับโทษในฐานให้ที่พักพิง ซึ่งได้กำหนดอัตราโทษสูงสุดให้จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40.000 บาทแล้ว ยังอาจได้รับโทษฐานมีส่วนร่วมหรือการสนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งมีโทษที่สูงขึ้นด้วย จึงถือเป็นบทเรียนที่ต้องให้ความสนใจและตระหนักถึงผลกระทบจากการให้ความช่วยเหลือผู้ก่อเหตุรุนแรง ดังตัวอย่างคำพิพากษาที่ปรากฏแล้ว และหากท่านพบเห็นผู้ก่อเหตุรุนแรงโปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ทหาร หรือตำรวจโดยทันที ☆●☆//sm.rp.