10 ข้อสงสัย ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก มีผลกระทบต่อโภชนาการเด็กและเศรษฐกิจจริงหรือ?

ถาม-ตอบ 10 ข้อสงสัย ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก มีผลกระทบต่อโภชนาการเด็กและเศรษฐกิจจริงหรือ?
โดย: นภัทร พิศาลบุตร เจ้าหน้าที่สารนิเทศเพื่อการพัฒนา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของ สนช. … ทว่า ปัจจุบันยังมีข้อมูลจากหลายแหล่ง ที่โต้แย้งเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ ยูนิเซฟประเทศไทย จึงขอนำเสนอข้อมูลในลักษณะ ถาม-ตอบ เพื่อให้ทุกๆ คน สามารถเข้าใจคือประโยชน์ของร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก นี้ และไขข้อข้องใจต่างๆ อาทิ จะมีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการเด็กหรือไม่ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

คำถามที่ 1: กฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก มีพื้นฐานมาจากไหน?

ตอบ: ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก อ้างอิงมาจากหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast milk Substitutes, จากนี้ จะเขียนย่อว่า Code) ซึ่งสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) และประเทศสมาชิกได้ประกาศรับหลักเกณฑ์ตั้งแต่ปีพ.ศ.2524  Code นี้กำหนดไว้เพื่อปกป้องสิทธิของเด็กทุกคนที่ควรได้รับโอกาสให้ได้กินนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และเพื่อปกป้องสิทธิของแม่ ให้มั่นใจว่าเมื่อจำเป็นต้องใช้อาหารอื่นแทนนมแม่ แม่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนผ่านวิธีการตลาดที่เหมาะสม

สมัชชาอนามัยโลกได้มีมติว่า ทุกประเทศควรทำ Code ให้เป็นกฎหมายของประเทศตนเอง เพื่อให้บังคับใช้ได้อย่างจริงจัง ปัจจุบันมีกว่า 80 ประเทศทั่วโลกได้ทำให้หลักการของ Code ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดให้เป็นกฎหมาย

ที่ผ่านมา ในประเทศไทย มีหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ตั้งแต่ปี พ.ศ 2527 และปรับปรุงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2551 แต่ว่าเป็นเพียงแนวปฏิบัติ ไม่ได้เป็นกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้และมีบทลงโทษ การละเมิดหลักเกณฑ์จึงยังมีอยู่อย่างแพร่หลาย จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำให้หลักเกณฑ์นี้เป็นกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง

คำถามที่ 2: ในประเทศไทย บริษัทใช้การส่งเสริมการตลาดด้วยวิธีใดบ้าง?

ตอบ: จากการติดตามและวิเคราะห์การส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงในประเทศไทย พบว่าแทบทุกบริษัทมีการส่งเสริมการตลาดและละเมิด Code อย่างแพร่หลาย เช่น

  • โฆษณานมผงสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไปในโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโฆษณาอื่นๆ
  • แจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์และของขวัญฟรีแก่แม่ เช่น แจกของขวัญให้แก่ผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานนิทรรศการที่จัดโดยบริษัทเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ และให้ของแถมผ่านตัวแทนขายในร้านขายส่ง ร้านค้าปลีก
  • มีข้อความ รูป หรือสัญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์ ที่สื่อว่าทารกและเด็กที่ใช้ผลิตภัณฑ์จะมีพัฒนาการที่ดี และสารอาหารที่เสริมในผลิตภัณฑ์มีส่งผลดีต่อสุขภาพ
  • ติดต่อกับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และกลุ่มแม่โดยตรง ผ่านการอบรมในสถานประกอบหรือโรงงาน และใช้ฐานข้อมูลที่ได้รับจากการสมัครสมาชิกผ่านเว็ปไซต์ หรือผ่านกิจกรรมที่โรงพยาบาล เป็นต้น
  • จัดงานอีเวนต์ ทำการตลาดผ่านสื่อโซเชียล Call center  ส่งจดหมายและเอสเอ็มเอส เพื่อติดต่อแม่และครอบครัว
  • ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในโรงพยาบาลและคลินิก เช่น แจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ จัดกิจกรรมกับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ปกครองทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน แจกอุปกรณ์ที่มีตราหรือสัญลักษณ์อื่นๆของผลิตภัณฑ์ให้แก่สถานพยาบาล
  • แจกของขวัญให้บุคลากรในโรงพยาบาล

คำถามที่ 3: ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลอย่างไร และจะยังสามารถหาซื้อนมผงได้ไหม?

ตอบ: ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ห้ามการขายนมผง จะยังสามารถหาซื้อนมผงได้จากร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ฯลฯ ไม่ต่างจากในตอนนี้ แต่สิ่งที่กฎหมายห้ามคือ ห้ามบริษัททำการส่งเสริมการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กอายุ 0-3 ปี ซึ่งหมายความว่า
  • ห้ามโฆษณาตามสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา นิตยสาร อินเตอร์เน็ต
  • ห้ามแจกตัวอย่างนมผง เช่น การแจกตัวอย่างนมผงให้แม่หลังคลอด หรือเมื่อไปแจ้งเกิด
  • ห้ามการส่งเสริมการขาย เช่น แจกของขวัญ หรือสิ่งจูงใจต่างๆ ให้แก่หญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวของทารกและเด็กเล็ก การลดราคา การขายพ่วง
  • ห้ามติดต่อกับแม่ เพื่อสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การให้ Call center โทรศัพท์ไปหาแม่หลังคลอด การจัดอีเวนท์ต่างๆ
นอกจากนี้ กฎหมายจะมีผลในการห้ามให้ของขวัญหรือสิ่งจูงใจอื่นๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด้วย
***ร่างกฎหมาย ไม่ได้บังคับว่าเด็กทุกคนต้องกินนมแม่ถึง 3 ปี และไม่ได้ห้ามแพทย์แนะนำการใช้นมผงให้แก่ผู้ปกครองของเด็กที่มีเหตุผลบ่งชี้ว่าควรได้รับอาหารอื่นนอกจากนมแม่ แต่เป็นการปิดช่องโหว่ที่บริษัทใช้ในการหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม เพื่อหาวิธีส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็ก ***

คำถามที่ 4: กฎหมายฉบับนี้จะมีประโยชน์ต่อใครบ้าง?

ตอบ: กฎหมายฉบับนี้มีประโยชน์ต่อแม่และเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเลือกกินนมแม่หรือนมผง เพราะเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ทุกคนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับทั้งนมแม่และนมผง ผ่านบุคลากรทางการแพทย์ ก็จะสามารถไม่ถูกชี้ชวนให้เข้าใจผิดด้วยการโฆษณาหรือการส่งเสริมการตลาดอื่นๆ

คำถามที่ 5: นมผงจำเป็นสำหรับเด็กบางกลุ่ม เช่น เด็กที่แม่มีปัญหาทางสุขภาพ เด็กกำพร้า เด็กที่ไม่ได้อยู่กับแม่ กฎหมายนี้จะทำให้หาซื้อนมผงได้ยากหรือไม่?

ตอบ: เป็นความจริงที่ทารกบางกลุ่มอาจมีความจำเป็นต้องใช้นมผง แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ได้ห้ามขายนมผง เพียงแต่ห้ามโฆษณาและส่งเสริมการตลาดเท่านั้น ดังนั้นเด็กที่จำเป็นต้องใช้นมผงจริงๆก็จะสามารถหาซื้อได้ตามปกติ นอกจากนี้ กฎหมายไม่ได้ห้ามแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนไข้ ผู้ปกครองของเด็กกลุ่มนี้ยังสามารถได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการให้อาหารทารกที่เหมาะสมกับสุขภาพของเด็กกลุ่มนี้ได้

คำถามที่ 6: ข้อห้ามต่าง ๆ ตามกฎหมายนี้ จะส่งผลกระทบด้านโภชนาการกับเด็ก เพราะผู้บริโภคจะได้ข้อมูลไม่เพียงพอ จริงหรือไม่?

ตอบ: ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่าการโฆษณา ไม่ได้สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง เหมาะสม และครบถ้วนเกี่ยวกับโภชนการของทารก โฆษณาแต่ละชิ้นถูกออกแบบขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ซื้อสินค้า จึงยกข้อมูลแค่ส่วนเล็กๆส่วนเดียวมาเป็นจุดขาย เพื่อดึงดูดให้แม่และครอบครัวเข้าใจว่า นมผงยี่ห้อนั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตและพัฒนาได้อย่างดีที่สุด แต่ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้น เช่น ภูมิคุ้มกัน หรืออธิบายว่าสารต่างๆที่เติมเข้าไป ไม่เหมือนกับสารอาหารตามธรรมชาติที่อยู่ในนมแม่
การดูแลด้านโภชนาการเด็กนั้น แม่และครอบครัวควรจะได้รับข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน ซึ่งแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ควรเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลเหล่านี้ หากแม่และครอบครัวไม่สามารถให้นมแม่ได้ หรือตัดสินใจแล้วว่าจะให้ลูกกินนมผง แพทย์และบุคลากรก็จะแนะนำวิธีใช้นมผงอย่างถูกต้องให้ ไม่ต้องกลัวว่าแม่จะไปเลือกซื้อสินค้าอื่นที่ไม่เหมาะกับเด็ก เช่น นมข้นหวาน นอกจากนี้ ผู้บริโภคสามารถอ่านดูข้อมูลบนฉลากของผลิตภัณฑ์ หรือติดต่อไปที่บริษัทนมเพื่อขอข้อมูลได้

คำถามที่ 7: ร่างกฎหมายจะมีผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจ เพราะจะลดยอดขาย การลงทุน การจ้างงาน จริงหรือไม่?

ตอบ: มีการกล่าวว่า ร่างกฎหมายจะมีผลต่อตลาดนมผง โดยเฉพาะนมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป ซึ่งมีมูลค่าถึง 11,000 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว จะเห็นว่าร่างกฎหมายนี้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังนี้
  • หากกฎหมายส่งผลให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ครอบครัวจะประหยัดค่าใช้จ่าย เงินที่ถูกใช้ซื้อนมผงกว่าหมื่นล้านบาท จะกลายเป็นเงินที่ครอบครัวสามารถนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้
  • มีการใช้หลักฐานจากงานวิจัยระดับโลกเรื่องประโยชน์ทางเศรษฐกิจของนมแม่ มาวิเคราะห์คำนวนว่า หากเด็กทุกคนในประเทศไทยได้รับนมแม่
  • ประเทศไทยจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและปอดบวมถึง 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือกว่า 260 ล้านบาทด้วย
  • ประเทศไทยจะสามารถป้องกันการเสียโอกาสของการพัฒนาสมอง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึง 192.6 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 6.8 พันล้านบาทต่อปี เนื่องจากงานวิจัยต่างๆ ชี้ว่า นมแม่สามารถเพิ่มไอคิวได้ถึงเกือบ 3 จุด

คำถามที่ 8: ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการกีดกันทางการค้าเกินความจำเป็น ขัดต่อหลักการค้าเสรี ขององค์การการค้าโลก จริงหรือไม่?

ตอบ: การควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารทารกและเด็กเล็ก สามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อหลักการค้าเสรีของ WTO เพราะมาตรการบังคับต่างๆที่ระบุในร่างพรบ.นี้ มีผลบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันกับผลิตภัณฑ์จากทุกประเทศ ทุกบริษัท ไม่มีการปฏิบัติต่อสินค้านำเข้าและสินค้าในประเทศอย่างแตกต่างกัน
ที่ผ่านมา กว่า 80 ประเทศได้ออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงแล้ว และส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกด้วย ซึ่งก็สามารถออกกฎหมายได้สำเร็จ

คำถามที่ 9: หากปรับขอบเขตของร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้ครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับทารกแรกเกิดถึง 12 เดือนเท่านั้น โดยไม่ควบคุมผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุ 1-3 ขวบขึ้นไป ได้หรือไม่?

ตอบ: ร่างพ.ร.บ. นี้ ต้องการคุมการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ถึง 3 ปี ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลว่า นมแม่มีประโยชน์ต่างๆ ต่อเด็กมากว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกหรือปีแรก และเด็กควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลสำคัญด้านตลาดด้วย คือการป้องกันการส่งเสริมการขายแบบข้ามชนิด (Cross promotion) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทใช้ในการหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม
ที่ผ่านมา แม้ว่า อย. จะได้ห้ามการโฆษณานมผงสำหรับทารก แต่ยังไม่มีการห้ามโฆษณานมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป หรือที่เราเห็นในท้องตลาดว่าคือ “นมสูตร 3” ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ให้บริษัทต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้ โดยทำให้รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของทุกๆ สูตรให้คล้ายกัน และใช้ชื่อยี่ห้อที่คล้ายกันมาก มีการใช้สโลแกน สัญลักษณ์ และแมสคอตเดียวกัน และใช้เลข 1-2-3 บนกล่องเพื่อแสดงให้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะตั้งใจเพื่อให้การส่งเสริมการตลาดของนมสูตร 3 ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่าโฆษณานมสูตร 1 และ 2 ไปด้วย
งานวิจัยจากประเทศออสเตรเลียพบว่า การโฆษณานมผสมสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปในนิตยสาร แม่จะคิดว่าเป็นโฆษณาสำหรับนมดัดแปลงสำหรับทารกหรือนมสูตร 1 เพราะสามารถจดจำชื่อและรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันได้  งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขายของผลิตภัณฑ์แบบใด ก็ส่งผลต่อการรับรู้และความเข้าใจของแม่ทั้งสิ้น
ดังนั้น หากจะห้ามการส่งเสริมการตลาดของนมสำหรับทารก 0-1 ปีเพียงอย่างเดียว และปล่อยให้มีการโฆษณานมสำหรับเด็ก 1-3 ปีต่อไป กฎหมายก็จะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบันนี้นัก ทำให้วัตถุประสงค์ของร่างพรบ.นี้ ที่ต้องการควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์นมผง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

คำถามที่ 10: ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารทางการแพทย์ หรือไม่?

ตอบ: ร่างพรบ.นี้ ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของนมที่มีวัตถุประสงค์พิเศษต่างๆ สำหรับเด็กอายุ 0-3 ปี ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนว่าเป็นอาหารทางการแพทย์ ซึ่งอาหารทางการแพทย์ควรได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์ เพื่อให้เด็กที่มีความเจ็บป่วยพิเศษ ไม่ควรต้องมีการโฆษณาหรือส่งเสริมการตลาดอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ร่างพรบ.นี้มีข้อยกเว้นในเรื่องการบริจาคอาหารทางการแพทย์ ว่าให้บริจาคได้ เพราะอาจมีเด็กที่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงเหล่านี้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่อาจไม่มีวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด