‘ไพเจน’สานฝันคนกีฬา ผลักดัน’สงขลาเป็นสปอร์ตซิตี้’ สร้างสนามรองรับทุกอำเภอ เพิ่มโอกาสเยาวชนเติบโตด้านกีฬา

‘ไพเจน มากสุวรรณ ‘สานฝันคนกีฬา ผลักดัน’สงขลาเป็นสปอร์ตซิตี้’ โดยสร้างสนามรองรับทุกอำเภอ จนไปถึงระดับตำบล  เพิ่มโอกาสเยาวชนก้าวไกลด้านกีฬา

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา(อบจ.สงขลา) ได้ตรวจเยี่ยมสนามฟุตซอล ที่ตำบลตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งอบจ.สงขลา ได้จัดสร้างขึ้น เพื่อผลักดันสงขลาเป็นเมืองกีฬา หรือสปอร์ตซิตี้

นายไพเจน กล่าวว่า อบจ.สงขลา ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดสร้างสนามกีฬาหลักที่ได้มาตรฐานประจำอำเภอ ซึ่งจะพยายามให้ครบทุกอำเภอ ซึ่งได้สร้างเกือบครบแล้ว เหลือเพียงอ.เทพา อ.บางกล่ำ อ.รัตภูมิ ที่ยังไม่ได้สร้าง ซึ่ง 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ได้สร้างสนามกีฬาที่อ.สิงหนคร อ.คลองหอยโข่ง สทิงพระ กระแสสินธุ์ จะนะ สนามที่ 2 ที่อ.สะเดา สร้างตรงเทศบาลปาดังเบซาร์ เพื่อให้ชาวสงขลาได้เล่นกีฬากันอยบ่างทั่วถึง ไม่กระจุกตัวอยู่ในเมืองสงขลา เมืองหาดใหญ่เท่านั้น

‘สนามมีทั้งที่เล่นฟุตบอลได้ และสนามที่มีประเภทลู่และประเภทลาน พยายามจะสร้างให้ครบทุกอำเภอ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาประชาชนทั่วไปได้เล่นกีฬา ได้ฝึนทักษะการเล่นกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยม อย่างสนามที่ตลิ่งชันที่มาตรวจเยี่ยม มีโค้ชคอยฝึกสอนเยาวชน ให้เยาวชนมีทักาะการเล่นเพิ่มขึ้น ซึ่งจ.สงขลา อย่างที่นาทวี มีเยาวชนติดทีมชาติหลายคน เป็นตัวอย่างให้เยาวชนได้มีกำลังใจในการฝึกซ้อม เพื่อหวังก้าวไปในระดับที่สูงกว่า ได้เรียนโรงเรียนดีๆ ๆได้ทำงานดีๆ โดยใช้กีฬาเป็นตัวนำ’ นายไพเจน กล่าว

นายกอบจ.สงขลา กล่าวว่า ตอนนี้ก็ลงมาถึงระดับตำบล ได้ก่อสร้างสนามฟุตซอล ที่อ.ระโนด ต.ตลิ่งชัน ต.ท่าม่วง อ.เทพา ต.กองกวางที่อ.นาทวี ส่วนในปีงบประมาณ 2568 ได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างที่สิงนคร 2 สนาม จะนะ 1 สนาม เทพา 1 สนาม นาทวี 1 สนาม สะบ้าย้อย 1 สนาม และนาหม่อม 1 สนาม ประมาณ 8 สนาม จะทำให้สงขลา เป็นสปอร์ตซิตี้เต็มรูปแบบ


นอกจากนี้ นายไพเจน กล่าวว่า อบจ.ยังได้ส่งเสริมกีฬาด้วยการจัดการแข่งขันในระดับอำเภอ เพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้เล่นกีฬา ส่วนที่สนามที่อบจ.สร้าง ก็จะมีการจัดแข่งเป็นประจำชิงถ้วยรางวัล เป็นแนวทางให้เยาวชนได้เพิ่มพูนทักษะ

ขณะเดียว อบจ.สงขลายังได้ปรับปรุงสนามกีฬาติณสูลานนท์ เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ โดยนายไพเจน มากสุวรรณ์ ได้เป็นประธานในการประชุมเตรียมความพร้อมของสนามติณสูลานนท์ ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ. 2568 ระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม 2568 พร้อมด้วย นายปรีชัย มาละวรรณโณ ที่ปรึกษา นายก อบจ.สงขลา /นางอุไรวรรณ จันลาภ ผู้อำนวยการการกีฬาเเห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา /เจ้าหน้าที่กองการท่องเที่ยวเเละกีฬาเเละเจ้าหน้าที่กองช่างที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมฯ

ทั้งนี้ สนามกีฬาติณสูลานนท์ ได้รับคัดเลือกให้จัดเเข่งขันกีฬาฟุตบอล เเละกีฬาวูซู เเละปรับปรุงในส่วนพื้นที่อาคารอัฒจันทร์ชั้น2 , ห้องน้ำชั้น 1, โครงสร้างเหล็ก ,ราวกั้นตก,โคมไฟ,สกอร์บอร์ด ห้องส่วนประธานการเเข่งขัน ให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนายไพเจนได้มอบนโยบายให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเวลา ทันต่อการจัดการแข่งขัน โดยต้องแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปี 2568 และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานในการจ่ายโบนัสด้วย

‘งานที่ยังจะต้องทำคือการติดตั้งเก้าอี้เพิ่มอีก 4,903 ตัว ปรับปรุงสนามหญ้าให้รีดน้ำออกได้ง่าย นอกนั้นอาจจะมีส่วนอื่นๆ เช่น สุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ห้องพักนักกีฬา ต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน’ นายกอบจ.สงขลา กล่าว

สำหรับสนามกีฬาติณสูลานนท์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา ถือเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีความจุประมาณ 35,000 ที่นั่ง สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมกีฬาของจังหวัดและใช้จัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติและนานาชาติ

สนามกีฬาติณสูลานนท์ ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2530 ในสมัยที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ชาวสงขลาให้ความเคารพและนับถือ ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย สนามกีฬานี้ถูกตั้งชื่อตามท่านเพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึงคุณูปการของท่านต่อจังหวัดสงขลาและประเทศไทย

นายนิพนธ์ บุญญามณี ในขณะดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้ขอรับการถ่ายโอนสนามกีฬาติณสูลานนท์ จากการกีฬาแห่งประเทศไทย มาเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และได้สานต่อการปรับปรุงและพัฒนาสนามกีฬาติณสูลานนท์อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.) โดยการปรับปรุงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้สนามกีฬาได้มาตรฐานและสามารถรองรับการแข่งขันระดับประเทศและนานาชาติได้อย่างเต็มที่

การปรับปรุงสนามกีฬาครั้งนั้นใช้งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.) และการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมีงบประมาณรวมในการพัฒนาสนามอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน, ที่นั่งผู้ชม, ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันกีฬาในระดับสากล

เมื่อเดือนตุลาคมนาคม 2567 สงขลาได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงคัพ โดยใช้สนามกีฬาติณสูลานนท์ เป็นสนามจัดการแข่งขัน และสามารถจัดได้อย่างยิ่งใหญ่ สมบูรณ์ คนเข้าชมหลายหมื่นคน

สงขลายังได้รับเลือกให้เจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ คือซีเกมส์ในปลายปี 2568 ทาง อบจ.สงขลาในฐานะเจ้าของ ผู้ดูแลสนามกีฬาติณสูลานนท์จึงต้องปรับปรุงสนามให้มีความพร้อมในทุกด้านรองรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติอีกครั้ง