“มท.1” กำชับไฟฟ้าและเครือข่ายมหาดไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สื่อสารเชิงรุกให้ครัวเรือนมีผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือแพทย์ทราบเกณฑ์ช่วยเหลือ ไม่ตัดไฟกรณีค้างชำระค่าไฟฟ้า
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลังจากวานนี้ (3 ต.ค. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้ให้ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า (ตัดไฟ) บ้านประชาชนใน อ.วังยาง จ.นครพนมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยติดเตียง ทางผู้ว่าการ กฟภ. ได้จัดทำรายงานข้อเท็จจริงมายังกระทรวงมหาดไทย รวมถึงชี้แจงผ่านสื่อมวลชนให้ประชาชนเข้าใจขั้นตอนดำเนินการต่างๆ แล้ว และทาง กฟภ. ได้มอบเงินช่วยเหลือให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตเบื้องต้น ขณะที่ทางญาติก็มีความเข้าใจถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบขั้นตอนและไม่ติดใจกับการงดจ่ายไฟของ กฟภ.
อย่างไรก็ตาม แม้ตามรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กฟภ. จะพบว่าช่วงเวลาที่ผู้ป่วยเสียชีวิตนั้นไม่ใช่ช่วงที่มีการงดจ่ายไฟ และไม่อาจระบุได้ว่าการงดจ่ายไฟเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต แต่นายอนุทิน ก็ยังคงมีความห่วงใยครอบครัวเปราะบางที่มีผู้ป่วยติดเตียง จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ตลอดเวลา ที่ไม่ควรมีความเสี่ยงใดๆ จากบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นกรณีของไฟฟ้า
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ด้วยปัจจุบันทาง กฟภ. ได้มีเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือไม่ตัดกระแสไฟฟ้ากับสถานที่หรือบ้านที่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว นายอนุทินจึงกำชับให้ทั้ง กฟภ. รวมทั้งเครือข่าย กลไกของกระทรวงมหาดไทยที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนอย่างมากอย่างอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ รู้ถึงเกณฑ์การช่วยเหลือ ที่ กฟภ.มีให้ เพราะปัจจุบันอาจจะมีประชาชนทราบเกณฑ์นี้ในวงจำกัด
“เมื่อทางการไฟฟ้ามีมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนที่มีผู้ป่วยอยู่แล้ว ท่าน มท.1 จึงกำชับเครือข่ายของกระทรวงมหาไทยที่ใกล้ชิดประชาชนช่วยกันเป็นกระบอกเสียง ประชาสัมพันธ์บอกเล่า ให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วยทราบถึงสิทธิตรงนี้ และเรื่องนี้ต้องทำให้เป็นความรู้ในวงกว้าง เนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้นๆ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์ยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้า หรือ ไม่ตัดกระแสไฟฟ้า ของ กฟภ. ในปัจจุบันนั้น ผู้ใช้ไฟที่มีผู้ป่วยในบ้านสามารถติดต่อลงทะเบียนที่สำนักงานของ กฟภ. ในพื้นที่ทุกแห่ง โดยมีเอกสารสำหรับลงทะเบียน ได้แก่ 1) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ใช้ไฟฟ้า 2) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย หรือสำเนา 3)ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล มีอายุไม่เกิน 1 เดือน ที่ระบุว่าผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล 4) หลักฐานแสดงสถานที่ใช้ไฟฟ้า เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้า หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสำเนาทะเบียนบ้านสถานที่ใช้ไฟฟ้า 5)ในกรณีที่มอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ต้องมีหลักฐานแสดงตัวของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
โดยทาง กฟภ. จะให้ยื่นลงทะเบียนเพื่อรักษาสิทธิต่อเนื่องภายในวันที่ 31 มกราคม ของทุกปี และในกรณีไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์แล้ว จะต้องแจ้งยกเลิกกับกฟภ. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม กฟภ. จะยกเลิกสิทธิในกรณี ดังนี้ได้ 1)ค้างชำระค่าไฟฟ้ารวมกัน 3 เดือน 2)ตรวจพบการกระทำโดยมิชอบ/การละเมิดการใช้ไฟฟ้า 3)แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือ 4) ตรวจพบผู้ป่วยยกเลิกการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ แต่ไม่มีการแจ้งยกเลิกกับ กฟภ.