ก.ม.’สมรสเท่าเทียม’ ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผล 22 มกราคม 2568

‘สมรสเท่าเทียม’ ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลใช้บังคับ 120 วันหลังจากนี้ (22 มกราคม 2568) มีผลให้การหมั้นและสมรสระหว่าง ‘บุคคล’ ไม่จำกัดชาย-หญิง 

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 หรือกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ซึ่งมีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง อีกต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีดังนี้

1.กำหนดให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้

2.แก้ไขคำว่า “ชาย” “หญิง” “สามี” “ภริยา” และ “สามีภริยา” เป็น “บุคคล”

“ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้นหรือคู่สมรสไม่ว่าจะมีเพศใด

3.เพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมกรณีที่คู่หมั้นหรือคู่สมรส
ฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศใด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1445 และมาตรา 1516 (1))

4.แก้ไขเงื่อนไขระยะเวลาการสมรสใหม่ตามมาตรา 1453 ให้ใช้เฉพาะกับกรณีที่หญิงที่มีชายเป็นคู่สมรสเดิมจะสมรสใหม่กับชายเท่านั้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1453)

5.กำหนดให้มาตรา 1504 วรรคสอง กรณีหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบตามมาตรา 1448
มีผลใช้บังคับเฉพาะกรณีการสมรสระหว่างชายหญิงเท่านั้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1504)

6.แก้ไขการอ้างอิงเลขมาตราที่บัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1508 วรรคสอง)

ทั้งนี้ กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่า หากมีผู้ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายใหม่ จะยังไม่สามารถทำได้ทันทีระหว่างที่กฎหมายเพิ่งประกาศใช้ ต้องรอให้พ้น 120 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป จึงจะสามารถไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งใหม่ที่รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม

อ้างอิง: พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๗