ประธานศาล รธน.รับข่าวมีผลต่อการตัดสินใจของศาล เปิดข้อมูลทุกคดีไม่ได้

ศาล รธน.จัดกิจกรรมพบสื่อ ‘นครินทร์’ รับข่าวมีผลต่อการตัดสินใจของศาล เหตุอยู่ในสภาวะแวดล้อมถูกบีบโดยสื่อ แต่ยืนยันไม่มีการตกลงกับใคร รับเปิดเผยข้อมูลทุกคดีไม่ได้ รัฐจะไม่เหลือสภาพ เผยเบื้องหลังประชุม 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา

วันที่ 1 ก.ค. 2567 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน ประจำปี 2567 โดยมีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปาถกฐาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสื่อในสังคมข้อมูลข่าวศาลยุคดิจิทัล” ตอนหนึ่ง ว่า ข้อมูลข่าวสารยุคดิจิทัลมีความยุ่งเหยิงมาก แน่นอน สื่อเป็นเครื่องมือของศาล และศาลต้องมีสื่อ ใช้สื่อเป็นอย่างน้อยต้องมีจดหมายข่าวต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันเราต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ถูกบีบโดยสื่อด้วย ไม่ว่าสื่อจะรายงานในทางบวก ทางลบ รายงานสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ก็ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตัดสินใจของศาลอยู่ด้วยในบางลักษณะ จะมากจะน้อยแล้วแต่ดุลพินิจของตุลาการแต่ละท่าน บางท่านอาจจะคิดถึงสถานการณ์มากเป็นกรณีพิเศษ บางท่านอาจจะไม่สนใจสถานการณ์บ้านเมืองเลยก็ได้ มองว่าสังคมไทยเราอยู่ในสังคม ที่มีสิทธิเสรีภาพพอสมควร ถือว่ามาก เมื่อเปรียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน น่าจะดีกว่า พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มากกว่า มาเลเซีย สิงคโปร์ด้วยซ้ำ ในบางเรื่อง

นายนครินทร์ กล่าวอีกว่า องค์กรศาล ไม่ใช่องค์กร ที่จะต้องกระตือรือร้นสื่ออะไรทั้งหมด เมื่อไม่กี่วันมานี้ก็มีท่านตุลาการท่านหนึ่ง บอกว่าควรจะสื่อให้ทราบดีไหม ว่าทำไมเราต้องประชุมวันที่ 18 มิ.ย. ท่านบอกตนทางไลน์ แต่พวกเราก็เงียบไม่อยากบอก ซึ่งไม่ใช่สายมูอะไร ไม่มีเรื่องลึกลับซับซ้อนอะไรเลย ไม่ใช่ว่าเราจะไปตกลงกับใคร จนกระทั่งมาประชุมวันที่ 18 มิ.ย. เหตุผลง่ายมาก เพราะตุลาการท่านหนึ่ง ท่านขอลามาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว ซึ่งถ้าไม่ประชุมกันอาทิตย์นั้น ก็ยกเว้นไปเลย ก็ตกลงกันประชุมวันที่ 18 มิ.ย. การประชุมไม่ได้มีอะไรลึกลับซับซ้อน

โลกยุคดิจิทัลทำให้มนุษย์ติดต่อกันได้เข้าถึงกันรวดเร็ว ง่าย แต่ในมุมกลับมันคือโลกของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำให้คนมีการรับฟังความอีกฝั่งน้อยเกินไป ตนฝากไว้จัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร และเรื่องจรรยาบรรณสื่อในยุคดิจิทัลอยู่ที่ไหน ถ้ามีการควบคุมดูแลกันบ้าง แต่การไม่ควบคุมกันเลย มันคือสังคมอนาธิปไตย เรายืนอยู่สองขา โลกฝั่งหนึ่งจะเป็นอนาธิปไตย หรือจะเป็นเผด็จการ แต่ตนว่าเราอย่าเป็นทั้งสองอย่างจะดีกว่า อยู่ตรงกลางๆ ให้สื่อยุคดิจิทัล เคลื่อนที่ไป

หวังว่า การสัมมนาในวันนี้ ตนอยากฟังสื่อ ที่มาร่วมวันนี้ด้วย พวกเราเองคงต้องคิดถึงความพอเหมาะพอควรที่จะสื่อกัน บางเรื่องเราตอบได้ แต่บางเรื่องต้องอย่าลืมศาลเป็นองค์กรที่อยู่กับความลับ ถ้าเราเปิดเผยทุกอย่างทั้งหมดอันนั้นไม่ใช่ศาล ความจริงองค์กรของรัฐบางประเภท ก็เปิดเผยทุกอย่างไม่ได้ เรายังคิดว่า เราต้องทำให้ทุกอย่างให้โปร่งใส เปิดเผยได้ทั้งหมด แต่บางเรื่องเปิดเผยไม่ได้ก็คือเปิดเผยไม่ได้ เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความ ความมั่นคงบางเรื่อง ถ้าเราเปิดเผยความมั่นคงของประเทศต่อสาธารณชนทั้งหมดก็เรียบร้อยครับ รัฐจะไม่เหลือสภาพเลย ความมั่นคงเศรษฐกิจทั้งหลาย บางเรื่องเปิดเผยไม่ได้จริงๆ ความพอเหมาะพอควรเราอย่าสุดโต่ง ตนว่า ให้อยู่ในจุดที่มีความสมดุลกันระหว่าง ความโปร่งใสตรวจสอบได้ กับการต้องดูแลให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย ของประเทศชาติ