นายกรัฐมนตรี แถลงหลักการ ร่างกม.งบฯ68 ย้ำปลายปี67 แจกเงินหมื่นถึงมือคนไทย พร้อมย้ำวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ไหลจากงบภาครัฐ ไปสู่ เอกชน กระตุ้นการใช้จ่าย-บริการ เผย มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศยังแข็งแกร่ง อยู่ที่ 2.24 ล้านล้านดอลลาร์
วันที่ 19 มิ.ย.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ เพื่อพิจาณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.7ล้านล้านบาท วาระแรก โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม
โดยเวลา 09.40 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุม ตอนหนึ่ง ว่า ปลายปี2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจที่ทั่วถึง ตั้งแต่ระดับฐานราก ไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เกิดการใช้จ่าย สั่งผลิตสินค้า จ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นภาษีให้กับรัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป
ด้วยภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่มีปัญหาหนี้สินครัวเรือน สูงกว่า 91.3% ต่อจีดีพี ซ้ำกับปัญหาหนี้นอกระบบ เอสเอ็มอี ที่มี 3.2ล้านราย โดยในครึ่งดังกล่าวเข้าไม่ถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้การเติบโตของเอสเอ็มดีอยู่ในระดับต่ำ ทำให้รัฐบาลต้องทำนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง โดยมีประมาณการเก็บรายได้จากภาษีได้สุทธิ 3.02 ล้านล้านบาท และหักการจัดสรรภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1.35แสนล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิ 2.88 ล้านล้านบาท และมีเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณณ จำนวน 8.6แสนล้านบาท รวมเป็นรายรับ 3.7ล้านล้านบาท
“การทำงบแบบขาดดุล มีความสำคัญและจำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากไหลจากภาครัฐไปสู่เอกชน ให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า บริการ หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง” นายเศรษฐา ชี้แจง และ ว่า
สำหรับฐานะการคลัง มีหนี้สาธรณะ 11 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.37% ของจีดีพี ทั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ให้ไม่เกิน70%ของจีดีพี ขณะที่เงินคงคลัง เมื่อ 30 เม.ย. 67 มี 4.3แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ บริหารรายรับรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี มีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 2.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขเมื่อ 31 ธ.ค. 66 คิดเป็น 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ถือว่าอยู่ในระดับแข็งแกร่งมาก
สำหรับภาพรวมของร่างพ.ร.บ.งบฯ68 วงเงิน 3.7ล้านล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 2.7ล้านล้านบาท คิดเป็น 72.1% รายจ่ายลงทุน 9.08แสนล้านบาท คิดเป็น 24.2% ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูงในรอบ 17ปี และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 4% ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 1หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ในการจัดสรรงบประมาณยังยึดตามยุทธศาสตร์ชาติ
“งบประมาณรายจ่ายปี 68 จำนวน 3.7ล้านล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้จำนวน 2.8 ล้านล้านบาท และเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 8.65 แสนล้านบาท แม้งบประมาณปีนี้ จะขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 9.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 24.2% ของงบรายจ่ายระจำปี ซึ่งเพิ่มจากปีก่อน 27.9% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 17 ปี การบริหรงบรายจ่ายทั้งหมด จะใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบการเงินการคลัง ใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเติบโตให้ประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรษฐา กล่าว.