รมช.ศึกษาฯ เป็นประธานเปิดงาน “ความท้าทายของระบบการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption” ลั่น คุมงานศธ.9 เดือน ภายใต้การนำ “เสมา1″ ช่วยแก้ปัญหา ทั้ง ” ยกเลิกครูอยู่เวร-คืนนักการภารโรง- จัดงบอาหารกลางวันให้นักเรียนโรงเรียนขยายโอกาส-แก้หนี้สินครู”
วันที่ 15 มิถุนายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานโครงการสัมมนาวิชาการ พร้อมบรรยายพิเศษโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ความท้าทายของระบบการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption” สำหรับนักเรียนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาประจำปีงบประมาณ 2566 และมอบเกียรติบัตร ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร โดยมี นายบัณฑิต ฉัตรวิโรจน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร นายสมศักดิ์ เอี่ยมดี ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร อดีตผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 2 นายภูมิพิพัฒน์ รักพรมงคล ประธานสาขาและคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา ประจำสาขาการบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร นายมงคล ศรนวล ศึกษาธิการจังหวัดกำแพงเพชร นางปรานี คู่มณี ศึกษาธิการจังหวัดตาก ร่วมให้การต้อนรับนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ “ความท้าทายการบริหารจัดการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption: ทิศทางและนโยบายใหม่”ในวันนี้ จากการรับฟังคำกล่าวรายงานฯ จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา ประจำสาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (ระดับ ป.โท – ป.เอก) ให้ความสำคัญในการพัฒนา มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ รวมถึงได้รับรู้ทิศทางและนโยบายใหม่ ในการบริหารจัดการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption เป็นการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล และสมรรถนะในด้านบริหารการศึกษา รวมทั้ง สามารถประยุกต์หลักการ แนวคิด ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้บริหารมืออาชีพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งในชุมชน ท้องถิ่น ตามบริบทของสังคมไทยในยุค Digital Disruption ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง จากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา และการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล“ขอขอบคุณวิทยากร ที่ได้เสียสละเวลา มาร่วมเสวนาวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้เกี่ยวกับทิศทางและนโยบายใหม่ ในการบริหารจัดการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption และทักษะการบริหารสถานศึกษา ของผู้บริหารในยุค Digital Disruption ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงสู่โลกยุคดิจิทัล ขอบคุณนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์มหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่สนใจในการบริหารการศึกษาไทย ในยุค Digital Disruption ทุกท่าน ขอขอบคุณ คณะกรรมการดำเนินงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดสัมมนาวิชาการ ทุก ๆ ท่าน ขออวยพรให้การจัดสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และขอเปิดการสัมมนาวิชาการ “ความท้าทายการ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว นายสุรศักดิ์ กล่าวบรรยายตอนหนึ่งว่า ตลอด 9 เดือนที่เข้ารับตำแหน่ง รมช.ศธ.ภายใต้การนำของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เราได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา ทำงานด้วยความรู้ถึงปัญหา สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด สามารถแก้ปัญหาได้ในหลายเรื่อง เช่น การยกเลิกครูอยู่เวร จัดสรรงบอาหารกลางวันให้นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส คืนนักการภารโรงให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน การย้ายครูคืนถิ่น สร้างสุขาดี มีความสุข สร้างบ้านพักครูโดยทำเป็นแฟลต การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาพร้อมประสานสถาบันการเงินทำให้ครูมีแหล่งเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลง ทั้งนี้ ศธ.ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเริ่มจากครูและบุคลากรทุกท่าน ในการทำให้ทุกท่านมีความสุข เพราะเมื่อเรามีความสุขแล้ว ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วอย่างไรบุคลากรทุกท่านก็พร้อมที่จะปรับตัว ดังนั้นนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”จึงถือเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ยุค Digital Disruption