สตรีคนแรกที่แผ่อิทธิพลคลุมราชสำนักอาณาจักรมุสลิม
อัลค็อยซุรอน บินติ อะฏออฺ (الخيزران بنت عطاء) เกิดในเยเมนแต่ถูกจับมาเป็นทาสในวังของคอลีฟะฮ์อัลมะฮ์ดีย์ ผู้ขึ้นครองตำแหน่งเป็นคอลีฟะฮ์คนที่ 3 แห่งอับบาซียะฮ์ในค.ศ.775
ถึงตอนนี้ขอให้ทุกคนลืมเรื่องราวเกี่ยวกับ”ฮาเร็ม”ที่ได้รับรู้มาจากหนังสือนิยายหรือหนังฝรั่งทั้งหมดไปก่อน เพราะมันไม่ใช่ ฮาเร็มที่แท้จริงคือ”ฝ่ายใน”ของราชสำนัก เป็นสถานที่จำกัดเฉพาะสตรีในราชสำนัก ซึ่งภายในนั้นมีกระแสพลวัตรทางการเมืองสูงมาก และในบางช่วงก็ส่งผลกระทบสะเทือนมาถึงราชสำนักส่วนหน้าและตัวคอลีฟะฮ์เอง
มีสตรีในฮาเร็มจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่เริ่มต้นจากการเป็นทาสในวังแล้วไปสิ้นสุดด้วยการครองอำนาจในอาณาจักร โดยอาศัยสติปัญญา เส้นสายเครือข่ายพันธมิตร การศึกษา ทักษะความเชี่ยวชาญทางการเมือง และแน่นอน “ความงาม”ของพวกเธอ
ตอน’คอยซุรอน’ถูกนำตัวมายังแบกแดดนั้น ครอบครัวที่แสนยากจนของเธอก็มากับเธอด้วย และชะตาชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนแปลงไปจนถึงจุดที่เกินกว่าจินตนาการของพวกเขาจะคิดไปได้ในตอนนั้น
คอยซุรอนได้กลายเป็นชายาของอัลมะฮ์ดีย์ตั้งแต่อายุยังน้อย และจัดแจงให้ลูกๆของเธอได้ขึ้นสู่ตำแหน่งที่จะสืบทอดอำนาจของอัลมะฮ์ดีย์ ในฐานะชายาของคอลีฟะฮ์ คอยซุรอนออกหน้าออกตาปฏิบัติภารขกิจและจัดวางตำแหน่งที่ดีที่สุดในฝ่ายบริหารให้กับสมาชิกในครอบครัวของเธอ
เมื่ออัลมะฮ์ดีย์สิ้นพระชนม์ในค.ศ.785 ลูกชายทั้ง 2 คนของเธอไม่ได้อยู่ในแบกแดด เธอจึงรีบเรียกตัวลูกทั้งสองกลับมา และเร่งเสริมสร้างฐานอำนาจเพื่ออ้างสิทธิในการสืบต่อบัลลังก์ ในห้วงสูญญากาศแห่งอำนาจนี้เธอได้เบิกเงินในท้องพระคลังเพื่อนำมาจ่ายให้แก่เหล่าขุนทหารอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นเวลา 2 ปี เพื่อสยบไม่ให้เกิดการยึดอำนาจ ในขณะเดียวกันก็ติดต่อกระชับสัมพันธ์กับบรรดาผู้สูงศักดิ์และผู้มีอำนาจให้สนับสนุนอัลฮาดีย์ ผู้เป็นลูกชายคนโตของเธอ
แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป บรรดาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเริ่มเห็นว่า อัลฮาดีย์เป็น”เศษสวะที่ไร้ประโยชน์”(ตามสำนวนของโกวเล้ง)แถมยังขี้อิจฉา อัลฮาดีย์อิจฉาน้องชายที่เป็นที่รักมากกว่า และดูเหมือนจะมีคุณสมบ้ติที่เหนือกว่า แล้วยังหันมาระแวงแม่ตัวเองซึ่งพยายามซ่องสุมขุมกำลังและแผ่ขยายอิทธิพลและอำนาจในหมู่ขุนนางอยู่ อัลฮาดีย์ไปหาแม่บ่อยครั้ง พร้อมกับเตือนสำทับแม่ว่า “ผู้หญิงอย่าเข้ามายุ่งกับการเมือง ละหมาดและซิกรุลลอฮ์ให้มากๆดีกว่า”
อัลฮาดีย์ครองอำนาจได้ปีกว่าๆก็สิ้นพระชนม์อย่างปริศนา โดยมีการซุบซิบร่ำลือกันหลายแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ อัลฮาดีย์สิ้นพระชนม์โดยคอยซุรอนเป็นผู้บงการ
มีเรื่องเล่ากันว่าก่อนสิ้นพระชนม์ไม่นาน อัลฮาดีย์ส่งอาหารไปให้แม่ลองกิน แต่แม่ให้สุนัขลองกินแทน แล้วสุนัขตัวนั้นก็ตาย หลังจากนั้นไม่นานอัลฮาดีย์ก็สิ้นพระชนม์
ด้วยเหตุนี้ “ฮารูน” ลูกชายคนรองของคอยซุรอนจึงขึ้นสู่อำนาจ คอยซุรอนยังคงบริหารจัดการกิจการของอาณาจักรต่อไป ส่วนฮารูนก็เชื่อฟังคำแนะนำของแม่ในเรื่องนโยบาย และมีความสุขกับการแบ่งปันอำนาจกับแม่ ขณะที่ตัวฮารูนเองนั่งเป็นประธานในการออกว่าราชการและประชุมขุนนางในราชสำนัก
ฮารูน มีพระนามเต็มว่า ฮารูน อัรรอชีด
บทเรียนจากเรื่องนี้คือ ลูกชายที่เชื่อแม่มักจะได้ดี
: Hannah Jewell. 100 Nasty Wonen of History
Cr.montree maleephand