“ภูมิธรรม เวชยชัย” เตรียมรับมือ สงคราม อิหร่าน-อิสราเอล ปะทุ กระทบส่งออกไทย สั่งพาณิชย์ประเมินใกล้ชิด หวังไม่ยืดเยื้อ จับตาช่องแคบฮอร์มุส หวั่นส่งผลราคาน้ำมันทั่วโลก-ทองคำพุ่งสูง
วันที่ 15 เม.ย.2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่อิหร่านเริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศช่วงผ่านมา ได้ยิงโดรนไปยังพื้นที่เป้าหมายในประเทศอิสราเอลได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ ทำการประเมินสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อการค้าของไทย
ล่าสุด ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ถึงสถานการณ์ปัจจุบันในอิหร่าน ที่ให้ประชาชนต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด โรงเรียนยังไม่ถูกสั่งปิด และประชาชนเริ่มมีความวิตกกังวลกับสถานการณ์ที่จะตามมา สำหรับผลกระทบการค้าไทย-อิหร่าน เบื้องต้นยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุอยู่ที่อิสราเอล คาดการณ์ว่าสถานการณ์การสู้รบน่าจะไม่ยืดเยื้อ ถ้าอิสราเอลไม่โต้กลับ โดยทางอิหร่านได้ประกาศหยุดโจมตี ยกเว้นถูกอิสราเอลตอบโต้อย่างไรก็ตาม ได้ให้ทูตพาณิชย์ติดตามสถานการณ์ที่ช่องแคบฮอร์มุส ในอิหร่าน ซึ่งเป็นช่องแคบที่สำคัญในการเดินเรือเพื่อส่งออกสินค้าสำคัญของประเทศที่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเกือบทั้งหมดในตะวันออกกลางทั้งซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน กาตาร์และคูเวต
“เบื้องต้นน่าจะยังไม่มีผลกระทบต่อการค้าไทย-อิหร่านโดยตรง เนื่องจากพื้นที่การโจมตีอยู่ในอิสราเอล นอกจากนี้ เส้นทางการขนส่งสินค้าไทยไปอิหร่านผ่านท่าเรือดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นหลัก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่เกิดสงคราม แต่ที่น่ากังวลคือราคาน้ำมันและราคาทองคำที่คาดว่าน่าจะพุ่งสูงขึ้น”
ทั้งนี้ช่องแคบฮอร์มุส ถูกใช้เป็นช่องทางขนส่งน้ำมันถึงวันละ 21 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 21% ของปริมาณการขนส่งน้ำมันทั่วโลกในแต่ละวันหากไม่สามารถขนส่งผ่านจุดดังกล่าวแม้เพียงชั่วคราว อาจนำไปสู่ความล่าช้าในการจัดหาน้ำมันและทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นได้ทั้งนี้ได้สั่งการเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะมีผลกระทบต่อการค้าไทยกับประเทศอื่นๆ หรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อโลก จะได้เตรียมมาตรการรับมือ และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวม และตนจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับปี 2567 สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปอิสราเอล พบว่า การส่งออก รถยนต์และส่วนประกอบ ที่เคยเป็นอันดับหนึ่ง มาหลายปีติดต่อกัน ลดลง 80% จากปี2566 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ซึ่งหากสงครามยุติ และ เศรษฐกิจอิสราเอลฟื้นตัว การส่งออกรถยนต์จากไทยน่าจะมีมูลค่าเพิ่มมากขี้นเช่นเดียวกับในช่วงเวลาภาวะปกติก่อนเกิดสงครามกับฮามาส
สำหรับอาหารที่ส่งออกจากไทย เช่น อาหารกระป๋อง มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 119% ในปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ข้าวเพิ่มขึ้น 1.62% เครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 21% โดยผู้นำเข้าสินค้าอาหารมายังอิสราเอลแจ้งว่าได้นำเข้าสินค้าตามปกติไม่ได้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น ในช่วงภาวะสงคราม แต่วิกฤตทะเลแดงทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้นมากถึง 5 เท่า แม้ว่าในปัจจุบันจะ ลดลงบ้างแต่ก็ยังแพงกว่าปกติ 2-3 เท่า
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้สินค้าไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเหตุการณิดังกล่าว เพราะท่าเรืองยังคงให้บริการปกติ มีเพียงสนามบินเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคำสั่งซื้อล่วงหน้าจะไม่ได้รับผลกระทบ ที่จะกระทบคือคำสั่งซื้อที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจจะชะลอตัวเพื่อรอดูทิศทางของสงคราม
สินค้าที่ได้รับผลกระทบจะเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่ผู้บริโภคจะชะลอ ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคยังไงคนก็ต้องกินต้องใช้คงไม่ได้รับผลกระทบ และหากทั้งสหรัฐฯและจีนไม่เข้ามามีส่วนร่วมเชื่อว่าความขัดแย้งน่าจะคลี่คลายเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตามสินค้าที่น่าจะเป็นห่วงคือ ราคาพลังงานที่ราคาทองคำที่น่าจะสูงขึ้น ซึ่งจะดันให้ค่าระวางเรือซึ่งเดิมขยับขึ้น 3-4 เท่า อาจจะขยับขึ้นไปอีกแต่คงไม่มาก อย่างไรก็ตามเอกชนมองว่าภาพรวมส่งออกไทยยังไม่กระทบมาก และเชื่อว่าครึ่งปีหลังส่งออกไทยจะมีทิศทางที่สดใสขึ้น
สอดคล้องกับ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออไทยยังไม่รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากว่า ท่าเรือต่างๆ ยังไม่มีการปิด และยังไม่มีการเก็บค่าระวางเรือเพิ่มดังนั้นการขนส่งทางเรือยังเป็นปกติ ซึ่ง สรท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
“ตอนนี้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ซึ่งถ้าสงครามยืดเยื้อก็อาจจะกระทบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง จะส่งผลต่อราคาพลังงานในประเทศซึ่งอยากจะฝากถึงรัฐบาลให้ตรึงราคาพลังงานให้ได้นานที่สุดหรือหากปรับโครงสร้างพลังงานอยากให้พิจารณาอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ส่งออกและคนไทยทั้งประเทศ”