วันนี้( 1 พ.ค.2560) เมื่อเวลา 15.00 น.พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ และคณะได้เปิดแถลงข่าวกรณีโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่ โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเทียบเรือ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีสื่อมวลชนจำนวนมากมาร่วมรับฟังจำนวนมาก
พลเรือเอกลือชัย ยอมรับว่าการที่กองทัพเรือไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดมาก่อนหน้า เพราะยอมรับว่าเป็นเอกสารลับของทางราชการ เปิดเผยไม่ได้ จนถูกนักข่าวหลายคนตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส และถูกถามเรื่องความจำเป็นหรือไม่ จนกระทั่งวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศจีน 1 ลำ จำนวน 13,500 ล้านบาท
“ยอมรับกองทัพเรือไม่ได้แค่จัดซื้อเรือดำน้ำ ในยุคนี้ แต่ทำมาเกือบครึ่งศตวรรษ และกระบวนการไม่แตกต่างกัน ข้อเท็จจริงจะปรากฎในวันนี้ และต้องการพูดคุยกับสือมวลชน โดยขอแจงแบบฉันท์เพื่อน อยากให้บรรยากาศเหมือนเพื่อนนั่งคุยกับเพื่อน และไม่ชี้แจงเพราะกองทัพเรือไม่ได้เป็นจำเลย ทั้งนี้การเลือกซื้อของจีนดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศจีน เพราะตอบโจทย์ภารกิจแบบที่กองทัพเรือต้องการทั้งหมด เช่น ภารกิจในการรักษาความมั่นคง รักษาสันติภาพ การปฏิบัติการทางการทหาร”
ขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาสัมพันธฺ์ กองทัพเรือได้เผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ระบุว่า
ข้อดีของการใช้งานเรือดำน้ำแบบ S26T 1. ด้านการซ่อนพรางตัว เรือดำน้ำที่แบบ S26T มีขีดความสามารถในการซ่อนพรางตัวเองสูงมากเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำแบบธรรมดาที่ใช้แบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว เพราะจะสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าถึง 5 เท่า เนื่องจากมีการติดตั้งระบบขับเคลื่อนที่ไม่ใช้อากาศจากภายนอก หรือระบบ AIP (Air Independent Propulsion System) หรือหมายถึงไม่ขึ้นมาหายใจ แต่สามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขณะดำอยู่ใต้น้ำได้ เนื่องจากใช้ออกซิเจนจากถังเก็บที่นำไปกับเรือด้วย ทำให้ได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้าม เพราะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกำลังทางเรือฝ่ายตรงข้ามได้
2. ด้านระบบอาวุธที่มีหลากหลายและรุนแรง โดยทั่วไปแล้วอาวุธที่เป็นอาวุธหลักของเรือดำน้ำ คือ ตอร์ปิโด ซึ่งจะยิงจากท่อตอร์ปิโด ซึ่งสามารถยิงอาวุธปล่อยนำวิถีใต้น้ำสู่พื้นหรือสู่เป้าหมายบนฝั่งได้ด้วย รวมทั้งยังออกแบบให้สามารถวางทุ่นระเบิดได้อีก ทำให้กองทัพเรือจะมีขีดความสามารถในการสู้รบเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมากจากการได้รับอาวุธ ทั้ง 3 ชนิดที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ถือเป็นขีดความสามารถที่สำคัญ
3. ด้านความปลอดภัย ภายในตัวเรือดำน้ำแบบ S26T ได้ออกแบบให้แบ่งเป็นห้องหรือ Compartment ย่อย ๆ ที่กันน้ำ เมื่อมีเหตุการณ์น้ำเข้าเรือห้องใดห้องหนึ่งเรือก็ยังมีแรงลอยตัวสำรองมากพอที่สามารถนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำได้ นอกจากนี้การแบ่งเป็นห้องหรือ Compartment ย่อย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในห้องใดห้องหนึ่ง กำลังพลของเรือก็ยังสามารถย้ายไปยังห้องอื่น เพื่อรอคอยความช่วยเหลือจากยานกู้ภัยเรือดำน้ำหรือจากหน่วยที่ให้ความช่วยเหลือได้ ซึ่งปัจจุบันยานช่วยชีวิตหรือยานกู้ภัยเรือดำน้ำได้รับการออกแบบให้สามารถให้การช่วยเหลือเรือดำน้ำที่ประสบเหตุได้ถึงความลึก กว่า 500 เมตร โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหนีออกจากเรือดำน้ำ ที่เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อไม่มีหนทางอื่น เนื่องจากการหนีออกจากเรือดำน้ำมาเองนั้นเสี่ยงอันตรายมาก
4. ด้านการฝึกอบรมกำลังพลที่จะไปเป็นกำลังพลรับเรือกลับมาและใช้งานเรือดำน้ำลำนี้ชุดแรก จะได้รับการฝึกอบรมเป็นขั้นเป็นตอนจากกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีประสบการณ์การฝึกอบรมมากว่า 60 ปี มีกำลังพลที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 80,000 นาย ซึ่งการอบรมให้กับกำลังพลของกองทัพเรือจะใช้แนวทางการฝึกอบรมแบบเดียวกับที่ทำการฝึกอบรมให้กับกำลังพลประจำเรือของสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง ที่มีเรือดำน้ำแบบดีเซล-ไฟฟ้า ใช้งานมากกว่า 50 ลำ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการฝึกอบรมในห้องเรียน เพื่อเรียนรู้ทางภาคทฤษฎีในหน้าที่ของแต่ละคน การฝึกในเครื่องฝึกจำลอง (Simulator) เพื่อเรียนรู้การทำงานของหน้าที่และอุปกรณ์ต่างๆในเรือดำน้ำ การเรียนรู้อุปกรณ์ในเรือจริงเพื่อให้สามารถใช้งานและเกิดความคุ้นเคย การลงฝึกในเรือดำน้ำที่สร้างเสร็จแล้ว ทำการฝึกกำลังพลทั้งลำในการใช้งานเรือ ตั้งแต่การเดินเรือตามปกติในทะเล ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ไปจนถึงการฝึกใช้อาวุธ โดยกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีนจะทำการฝึกและควบคุมการฝึก ตลอดระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งสิ้นประมาณ 2 ปี
5. ด้านการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการรับประกันหลังการส่งมอบระยะเวลา 2 ปี ที่บริษัทอื่นไม่ได้เสนอแล้ว การรับประกันเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุด ในวงรอบ 8 ปี ที่รวมการสนับสนุนอะไหล่ที่ต้องการสำหรับการทำการตรวจสภาพเรือตามวงรอบถึง 5 ครั้ง (3 Dock check และ 2 Minor overhaul) ในช่วงดังกล่าวด้วย รวมทั้งการสนับสนุนเจ้าหน้าที่เทคนิคมาประจำที่กองเรือดำน้ำ ตลอดช่วงเวลารับประกันเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเริ่มต้นของการมีเรือดำน้ำเข้าประจำการของกองทัพเรืออีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ กองทัพเรือได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการจะจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการ จึงได้มีการเตรียมงานเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ การสร้างอาคารที่พักสำหรับกำลังพล การจัดส่งกำลังพลไปฝึกอบรมด้านเรือดำน้ำจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา การเข้าประชุมสัมมนาต่างๆ ทั้งในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และยุโรป การจัดส่งกำลังพลร่วมฝึกและสังเกตการณ์ฝึกในเรือดำน้ำ การส่งคณะไปแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลกับกองเรือดำน้ำประเทศต่าง ๆ
รวมทั้ง ได้จัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ เพื่อเป็นการศึกษา ทบทวน ความรู้ให้กับกำลังพล และทดสอบ ทดลองยุทธวิธีเรือดำน้ำ ข้อมูลเพิ่มเติม การพัฒนากำลังรบของประเทศในแถบอาเซียนที่มีเขตแดนติดกับประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า 1. ประเทศมาเลเซีย จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 20 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ 2. ประเทศสิงคโปร์ จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 12 ลำ เรือดำน้ำ 6 ลำ 3. ประเทศเวียดนาม จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 20 ลำ เรือดำน้ำ 6 ลำ 4. ประเทศเมียนมา จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 38 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำ