ศาลฏีกาแผนกดคีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เตรียมขึ้นบัลลังก์ วันนี้ (4 มี.ค.) พิพากษาคดี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” สมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ อนุมัติให้ “มติชน-สยามสปอร์ต” ดำเนินโครงการ โรดโชว์ สร้างอนาคตประเทสไทย วงเงิน 240 ล้านบาท โดยมี “นิวัฒน์ธำรง-สุรนันท์” เป็นจำเลยร่วม
วันที่ 4 มี.ค.67 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 4 มี.ค.2567 เวลา 9.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีการอ่านคำพิพากษาคดีกล่าวหาว่าปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี , นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล , นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ , บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) , บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) , นายระวิ โหลทอง เป็นจำเลยที่ 1-6 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2565 หลังจากเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีการติดประกาศแจ้งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ จำเลยที่ 1 (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหลบหนีคดีในต่างประเทศ ถูกออกหมายจับ) รับทราบการแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้เป็นทางการไปแล้ว
สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด โดยกล่าวหาว่า เมื่อระหว่างปลายเดือน ส.ค.2556 – 21 มี.ค.2557 จำเลยที่ 1-3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4-5 ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ
กล่าวคือ จำเลยที่ 1-3 กำหนดตัวบุคคลผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้าให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับดจ้างจัดทำโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 จำนวน 12 จังหวัด โดยยังไม่ได้คัดเลือกผู้เสนอราคา จำเลยที่ 3 เสนอและจำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง 40 ล้านบาท ทั้งที่มิใช่กรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน
ต่อมาจำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 อนุมัติหลักการจัดโครงการที่ จ.หนองคาย และนครราชสีมา ในวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาทโดยวิธีพิเศษ จำเลยที่ 3 ครอบงำจูงใจให้คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษยอมรับการเสนอราคาของจำเลยที่ 4 หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 เสนอและจำเลยที่ 2 อนุมัติจ้างย้อนหลัง ส่วนโครงการที่เหลือ 10 จังหวัดวงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท จำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 อนุมัติหลักการ จัดโครงการโดยวิธีพิเศษ ต่อมาจำเลยที่ 2 อนุมัติตามที่จำเลยที่ 3 เสนอให้จ้างจำเลยที่ 4-5 ตามที่ตกลงไว้ล่วงหน้า
ทั้งจำเลยที่ 3 ยังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้มีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวด จำเลยที่ 1-2 ซึ่งอยู่ในที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติด้วย ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ…. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้โครงการที่จะเกิดขึ้นตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมิอาจเกิดขึ้นได้ โครงการ Roadshow เกิดความสูญเปล่า เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นเงิน 239,700,000 บาท
ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 , 157 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 , 13 ลงโทษจำเลยที่ 4-3 ในฐานะผู้สนับสนุน
โดย จำเลยที่ 2 , ที่ 3 , ที่ 5 และที่ 6 มาศาล และได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
ขณะที่ขั้นตอนการฟ้องร้องคดีนี้ ก่อนหน้านี้ อัยการสูงสุด (อสส.) เห็นควรไม่สั่งฟ้องให้ หลังคณะทำงานร่วมฝ่าย อสส. พิจารณารายงานผลการตรวจสอบเรื่องนี้ พบว่า ในช่วงหลังจากที่กลุ่มเอกชนประกอบธุรกิจสื่อ ได้ทำหนังสือทวงถามการจ่ายเงินว่าจ้างในโครงการฯ นี้ หลังจากที่จัดงานเสร็จสิ้นแล้ว สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่พลเอก วิลาศ อรุณศรี ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบข้อมูลและอ้างว่าการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบพัสดุ จึงมีการจ่ายเงินให้ไป ซึ่งคณะทำงานร่วมฝ่าย อสส. เห็นว่าเป็นข้อมูลสำคัญ และทำให้สำนวนการคดีนี้มีความไม่สมบูรณ์ ก่อนจะมีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดีตามมาดังกล่าว ป.ป.ช.จึงต้องยื่นฟ้องคดีเอง
ต่อมา หลังการยื่นฟ้องคดีเองของ ป.ป.ช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง มีคําสั่งไม่ประทับรับฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ส่วนข้อหาอื่นให้ประทับรับฟ้อง โดยเห็นว่า คําฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายองค์ประกอบให้เห็นว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์อย่างไร กรณีถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสาระสําคัญ เป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม และเป็นกรณีที่ไม่อาจสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดให้เป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดได้
จากนั้น เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ ยืนตามศาลชั้นต้น ที่มีคําสั่งไม่ประทับรับฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ส่วนข้อหาอื่นให้ประทับรับฟ้อง โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เห็นว่า การพิจารณาว่าคําฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากคําฟ้องโจทก์เท่านั้น ส่วนเอกสารท้ายฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคําฟ้องก็เป็นเพียงส่วนแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเท่านั้น ไม่อาจนําเอกสารท้ายฟ้องมาพิจารณาประกอบกับคําฟ้องเพื่อให้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําสั่งไม่ประทับฟ้องในข้อหานี้มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ก่อนที่จะนำมาสู่ การนัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าว เป็นทางการในวันที่ 4 มี.ค.2567 นี้