“อิ๊งค์-แพทองธาร” แสดงความยินดี 6 ภาพยนตร์ไทย ได้ฉายในงานเทศกาล Osaka Asian Film Festival ย้ำ ทุกเรื่องได้รับการสนับสนุนงบจากรัฐบาล ชี้ ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอีก และจะเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรมที่สร้าง Soft Power
วันที่ 28 ม.ค.2567 เวลา 08.59 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ขอแสดงความยินดีกับภาพยนตร์ไทยทั้ง 6 เรื่อง ที่ได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ Osaka Asian Film Festival 2024 โดยรัฐบาลสนับสนุนจัดโปรแกรมภาพยนตร์ไทยในชื่อ Thai Cinema Kaleidoscope 2024 สำหรับภาพยนตร์ไทยทั้ง 6 เรื่อง มีดังนี้
1. สัปเหร่อ (The Undertaker) กำกับโดย ธิติ ศรีนวล
2. เพื่อน(ไม่)สนิท (Not Friends) กำกับโดย อัตตา เหมวดี
3. ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง (Solids by the Seashore) กำกับโดย ปฏิภาณ บุณฑริก
4. หุ่นพยนต์ (Hoon Payon) กำกับโดย ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ
5. แว่วเสียงไฟ (Blazed Away) กำกับโดย ศุภามาศ บุญนิล
6. How We Say Goodbye กำกับโดย ธันยชนก อภิสัมโพธิ์กุล
น.ส.แพทองธาร ระบุต่อไปว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอแสดงความยินดีเป็นพิเศษกับ เพื่อน(ไม่)สนิท (Not Friends) และ ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง (Solids by the Seashore) ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่ของเทศกาล ทั้ง Grand Prix และ Most Promising Talent Award หวังว่าเราทุกคนจะได้ยินข่าวดีกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ภาคเอกชนจะเดินทางไปเทศกาลนานาชาติด้วยตัวเอง โดยแทบไม่ได้มีการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงไม่มีการประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ภาพยนตร์ไทยสู่สายตาชาวโลก แต่ครั้งนี้รัฐบาลได้จัดโปรแกรมภาพยนตร์ และภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ได้ไปฉายจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ เพราะถือว่าไปในนามรัฐบาล และการสนับสนุนเช่นนี้เป็นผลจากการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนคนทำภาพยนตร์
“เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยหากเทียบกับภารกิจอีกมากมายของรัฐบาล แต่มีความหมายมากสำหรับคนทำภาพยนตร์ จุดเปลี่ยนเล็กๆ ครั้งนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในอนาคต ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดที่ภาครัฐมีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไปตลอดกาลค่ะ เพราะกว่าจะมีการสนับสนุนเป็นเรื่องยากมากๆ แต่เกิดขึ้นแล้วก็จะต้องมีครั้งต่อๆ ไปค่ะ”
นอกจากงานเทศกาล Osaka Asian Film Festival รัฐบาลยังสนับสนุนภาพยนตร์ไทยที่ไปฉายในเทศกาลนานาชาติอื่นๆ นั่นคือ International Film Festival Rotterdam (เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม) และที่ Berlin International Film Festival (เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน) อีกด้วย
สำหรับงานเทศกาลภาพยนตร์ คือโอกาสต่อยอดทางธุรกิจที่สำคัญ เพราะไม่ใช่แค่การฉายภาพยนตร์ แต่เป็นโอกาสที่จะทำให้ต่างชาติได้เห็นศักยภาพในการสร้างภาพยนตร์ของไทย รวมถึงมีโอกาสได้พูดคุยเรื่องการซื้อขายภาพยนตร์ การซื้อขายลิขสิทธิ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกันในอนาคตอีกด้วย ความสำเร็จนี้เป็นการทำงานร่วมกันของหลายส่วน ทั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำงานกันอย่างเข้มข้น ฝ่าฟันอุปสรรคโดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณที่ต้องขออนุมัติเร่งด่วน
“ผลงานนี้เกิดขึ้นเพราะการทำงานแบบเอกชนเป็นผู้นำ และรัฐบาลเป็นผู้ซัพพอร์ตค่ะ นี่คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่เราได้เปลี่ยนแปลงจากการทำงานในช่วงเริ่มต้น หลังจากนี้ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ จะเกิดขึ้นอีก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้น และใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรมที่สร้าง Soft Power อยากให้ทุกท่านติดตามการทำงานของเราต่อไปนะคะ”