“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ฉายภาพการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาล เม.ย.นี้ เปรียบการตรวจสอบเหมือนเรียนรู้ไปในตัว หากก้าวไกลได้เป็นเอง ชู 3 เรื่องใหญ่อภิปรายไม่ไว้วางใจ
วันที่ 26 ม.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงจุดยืนในภาพรวมการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาล ว่า การจะเป็นสถาบันพรรคการเมือง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทุกองค์กรมีแผนการดำเนินงานประจำปีของตัวเองอยู่แล้ว แต่เราคงต้องเอามารวมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น เพื่อดูว่าจะสามารถทำงานอะไรร่วมกัน และแจกจ่ายงานในส่วนไหนให้กันได้บ้าง
ส่วนภาพที่รัฐบาลจะต้องเจอภายหลังจากที่นายพิธากลับมานั้น ในทุกสัปดาห์ เราจะมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คอยเก็บข้อมูล และลงพื้นที่ไปรับฟังพี่น้องประชาชน มีทีมงานเบื้องหลังก็มีการเรียบเรียงข้อมูลให้เห็น ว่าภาพที่รัฐบาลทำมีอะไรบ้าง และมีอะไรบ้างที่รัฐบาลควรจะต้องปรับปรุง ตามกลไกของรัฐสภา ตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไป น่าจะพอเห็นภาพ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเหตุการณ์สำคัญ ที่เราคิดว่ารอไม่ได้ถึง เม.ย. ก็จะใช้กลไกสภา อาทิ การตั้งกระทู้ รวมไปถึงการทำงานกับสื่อมวลชนในการแถลงข่าว เพื่อให้ทิศทางการบริหารราชการแผ่นดินเป็นประโยชน์ และเป็นธรรมต่อประชาชน
เมื่อถามว่า ได้คิดฉากทัศน์ภายหลังศาลธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีนโยบายหาเสียง 112 ไว้แล้วใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า มีการคิดไว้แล้ว ถึงแม้จะเป็นฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด พรรคก้าวไกลก็ยังบริหารจัดการได้ ไม่ได้ทำให้ภาพรวมใหญ่ทั้งปีต้องสะดุดลง ตนคิดว่าสามารถบริหารจัดการได้ แต่ยังลงรายละเอียดไม่ได้
นายพิธา กล่าวถึงการเตรียมหัวข้อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เน้นไปที่ 3 หัวข้อใหญ่คือ 1.ความล้มเหลวในการบริหาร 2.การประพฤติมิชอบ คอร์รัปชัน และ3.การทำงานช้า น้อย หรือสายเกินไป ไม่ตรงกับความท้าทายของศักยภาพประเทศ ตอนนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้พูด แต่ทีมงานหลังบ้านกำลังทำข้อมูลเพิ่มขึ้นทุกอาทิตย์ ในส่วน กมธ. ก็สามารถเรียกข้อมูลเพิ่มเติมได้ “สัญญากับพี่น้องประชาชน ว่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลัวจะเป็นการสกัดดาวรุ่งของตัวเองหรือไม่ เนื่องจากได้เปิดเผยความต้องการในการทำงานไปแล้ว นายพิธา กล่าวว่า การทำงานของตน ไม่ได้มีแค่ตนและรัฐบาล แต่มีฝ่ายประชาชน ฝ่ายข้าราชการ เอ็นจีโอ องค์การระหว่างประเทศ ร่วมด้วย ถ้าตนไม่พูดว่าต้องการอะไร ก็จะสะเปะสะปะ ภาคส่วนอื่นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าร่วมตรงไหน อย่างไร กับใคร และมองไม่เห็นการเมืองแห่งความเป็นไปได้ ต้องหาดุลภาพให้เจอ
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านของพรรคก้าวไกลจะไม่เหมือนกับฝ่ายค้านชุดที่ผ่านๆ มา ใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เราอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ การทำกฎหมายที่ก้าวหน้าเป็นหน้าที่ของเรา แน่นอนว่าต้องตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาเต็มที่อยู่แล้ว แต่การตรวจสอบยังไม่พอ ต้องมีการแนะนำ ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้ในกระบวนการ “เมื่อเราเป็นรัฐบาลด้วยตัวเอง เราจะได้ไม่มีข้อติดขัดต่างๆ ทำงานได้เลย เป็นการเรียนรู้ไปในตัว” นายพิธา ระบุ
ส่วนนโยบายที่มีตรงกันกับพรรคร่วมรัฐบาล มั่นใจแค่ไหนว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะผลักดันนโยบายให้ผ่านนั้น นายพิธา กล่าวว่า เท่าที่ดูจากสถิติ มี 2 กฎหมายที่เราสามารถผ่านสภาได้ ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ว่าไปกันคนละทาง แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีกฎหมายที่ดีที่ตอบโจทย์กับพี่น้องประชาชน ตนคิดว่าบางเรื่องก็มีทิศทางไปในทางเดียวกัน ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง อาทิ นโยบายเปลี่ยนโฉนดที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ก็เป็นนโยบายเดียวที่เหมือนกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในทางปฏิบัติ
นายพิธา กล่าวว่า เมื่อฟังการแถลงข่าวแล้วก็ค่อนข้างที่จะชัดเจนว่าในเมื่อมีทิศทางไปในทางเดียวกัน ก็ไม่เห็นข้อจำกัดคือข้ออ้างใดๆ ที่จะปัดตกตั้งแต่ชั้น กมธ.วาระแรก เพื่อให้ไปคุยกันในรายละเอียดวาระสอง และลงมติในวาระสาม ถ้าผ่านได้ก็คิดว่าเป็นผลงานของสภาร่วมกัน และพี่น้องประชาชนจะได้ประโยชน์.