“ศุภมาส” นำ อว. ผนึก ทบ. พัฒนาทักษะ กำลังพล ผ่านระบบ RTA Thai MOOC

“ศุภมาส” นำ กระทรวง อว.ร่วมผนึกกำลัง “กองทัพบก” พัฒนาทักษะ “กำลังพล” ของกองทัพ ผ่านระบบการเรียนรู้ออนไลน์ RTA Thai MOOC เริ่มปี 67 เผย เรียนจบได้ใบรับรองทักษะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับภาคเอกชนหรือผู้ว่าจ้างหลังปลดประจำการ

วันที่ 25 ม.ค. 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการแถลงข่าว “ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวง อว.กับ กองทัพบก” โดยมี พลเอกเจริญชัย หินเธาว์ ผู้บังคับบัญชาทหารบก พลตรีธนิศร์ ยูสานนท์ รองเจ้ากรมกำลังพลทหารบก และ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. ร่วมแถลง มี น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ผู้บริหาร อว. ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพบก และกำลังพลทหารบกเข้าร่วม ที่ห้องรับรอง 222 อาคาร 2 ชั้น 2 กองบัญชาการกองทัพบกน.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. ร่วมกับกองทัพบก(ทบ.) ผลักดันให้กองทัพบกพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยกำลังพลทุกนายจะมีช่องทางสำหรับการพัฒนาตนเองผ่านการใช้สื่อความรู้ที่หลากหลาย และมีมาตรฐานในระบบออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตผ่านโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตระหว่างกันที่ได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะดำเนินการผ่านแพลตฟอร์ม Thai MOOC ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของ โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย มีรายวิชาที่ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าเรียนได้กว่า 700 รายวิชา ความร่วมมือกับ ทบ.ในครั้งนี้ มีทั้งการให้กำลังพลเข้าเรียนในรายวิชาที่มีอยู่ใน Thai MOOC และ การพัฒนาหลักสูตรรายวิชาของ ทบ. แล้วนำมาเผยแพร่ที่ Thai MOOC เพื่อให้กำลังพล และประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้วิชาทางการทหาร “กระทรวง อว. จะเน้นในเรื่องของการเพิ่มทักษะ และพัฒนาทักษะ รวมทั้งมีการจัดทำหลักสูตร Non Degree ที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้เวลาเรียนถึง 4 ปีจึงจะได้รับปริญญา แต่สามารถเรียนหลักสูตรระยะสั้นเพื่อไปประกอบวิชาชีพที่ตนเองถนัด ซึ่งสอดคล้องกับกำลังพลของกองทัพ”น.ส.ศุภมาส กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่สำคัญ เพื่อให้การพัฒนากำลังพลของกองทัพบกเกิดผลต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม อว.จึงเสนอมาตราการดําเนินงาน ดังนี้ 1.คัดเลือกรายวิชาใน Thai MOOC ที่เหมาะเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในรูปแบบการเรียนรู้ออนไลน์โดยเน้นด้านการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จําเป็นต่อการเรียนรู้ และการทํางาน เพื่อให้บริการแก่กำลังพลผู้ที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ 2.จับคู่สถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นสําหรับกําลังพลในสาขาที่กําลังเป็นที่ต้องการของตลาด เน้นการเรียนคู่กับการปฏิบัติ และสามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ได้ ภายหลังการปลดประจําการ 3.จัดทําและรับรองทักษะ (skill transcript) ระบุทักษะที่กําลังพลได้เรียนรู้ และพัฒนา ในแต่ละปีซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนหรือผู้ว่าจ้างทราบว่ากําลังพลที่ปลดประจําการแล้วมีทักษะ อะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่องาน หรือ เมื่อรับกําลังพลที่ปลดประจําการทํางานแล้ว ควรจะพัฒนาทักษะอะไรเพิ่มเติม และ 4.การจัดทําคลังหน่วยกิตกลาง (Credit Bank) สําหรับการเทียบโอนหน่วยกิตและประสบการณ์ของกําลังพลของกองทัพบก เพื่อลดเวลาในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพิ่มความรู้ และทักษะในการทํางานระดับสูงด้านพลเอกเจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. กล่าวว่า โครงการความร่วมมือนี้ มี 2 กิจกรรม คือ 1.การส่งเสริมให้กำลังพลเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยระบบการเรียนรู้ออนไลน์ RTA Thai MOOC โดยกองทัพบก แบ่งการกำหนดหมวดวิชาสำหรับให้กำลังพลเข้าศึกษา เป็น 2 หมวดวิชา ได้แก่ หมวดวิชาเพื่อพัฒนา และเสริมสร้างสมรรถนะในการปฏิบัติงาน อาทิ การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น และหมวดวิชาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ ด้านการบริหารการเงิน ปรัชญาเศรษฐกิจ สุขภาวะกายและจิต เป็นต้น ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายขั้นต้นให้กำลังพลทุกนาย สามารถเลือกรายวิชาที่จะศึกษาเรียนรู้ได้ตามความสนใจโดยจะต้องเข้าเรียนอย่างน้อย 3 รายวิชาต่อปีงบประมาณ และต้องเรียนในทั้ง 2 หมวดวิชา และ 2. การจัดทำหลักสูตรรายวิชาความรู้ของกองทัพบก เพื่อนำไปเผยแพร่ในระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ Thai MOOC เพื่อสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการทางทหาร ให้มีการเผยแพร่ออกสู่สังคมให้มากขึ้นผบ.ทบ.กล่าวต่อว่า การดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ในปีงบประมาณ 2567 ให้ปฏิบัติกับบางหน่วยทหารในกองทัพบกก่อนซึ่งจะมีกำลังพลทั้งนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารประทวน ต้องเข้าเรียนในระบบ จำนวน 24 หน่วย โดยจะมีกำลังพลเข้าเรียนประมาณ 20,000 นาย และในปีงบประมาณ 2568 จะขยายผลให้การปฏิบัติครอบคลุมทุกหน่วยทหารในกองทัพบก โดยจะมีกำลังพลเข้าเรียนประมาณ 130,000 นาย สำหรับการจัดทำหลักสูตรรายวิชาความรู้ของกองทัพบกเพื่อเผยแพร่ลงในระบบ Thai MOOC นั้น ในปีงบประมาณ 2567 กองทัพบกกำหนดให้จัดทำความรู้เผยแพร่ จำนวน 2 รายวิชา ได้แก่ รายวิชาผู้นำทางทหาร และ รายวิชาประวัติศาสตร์ทหาร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประสานงานการจัดทำเนื้อหาไว้บนระบบ Thai MOOC