“จาตุรนต์ ฉายแสง” นำคณะ กมธ.ดับไฟใต้ สภาฯ ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ประชุม ร่วมกับ ผู้ว่าฯ3 จังหวัดชายแดนใต้ รับทราบปัญหา เพื่อหาแนวทางสร้างสันติภาพ ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องศึกษาให้รอบคอบ หลังรัฐบาลทุ่มงบฯ ไปแล้วกว่า 5 แสนล้าน แต่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายได้ดีเท่าทีควร
วันที่ 19 ม.ค. 2567 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา หาแนวทางส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และ ยะลา โดยมี เลขาธิการ ศอบต. และ คณะกมธ. เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมซี เอส ปัตตานี ต.รูสะมิแลฃ อ.เมือง จ.ปัตตานี โดย นายจาตุรนต์ ระบุว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกระบวนการสร้างสันติภาพ งบประมาณที่ภาครัฐใช้ไปในระยะหลังนับคร่าวๆ มากกว่า 500,000 ล้านบาท มีหน่วยงานกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบมากกว่า 14 หน่วยงาน แต่อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน ทั้งที่มองว่าปัญหาได้คลี่คลายดีขึ้น และที่มองว่าปัญหายังดำรงอยู่
การประชุมครั้งนี้ เพื่อให้คณะ กมธ. คณะอนุ กมธ. และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้รับฟังจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ ให้มีข้อคิดเห็นและความเข้าใจในสภาพปัญหาที่ตรงกัน โดย มีประเด็นสำคัญที่คณะ กมธ.ได้พิจารณาศึกษา เป็นหัวข้อที่ยากและไม่ได้พูดคุยกันในวงกว้างนัก แม้ในสภาเอง อาทิ
1. บทบาทของรัฐสภาต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ 2. การปรับการทำงานของฝ่ายบริหารเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านการพูดคุยสันติภาพโดยตรง และทำอย่างเต็มเวลา 3. ขจัดอุปสรรคต่อการเดินหน้าของกระบวนการสันติภาพอันเกิดจากความกลัวต่อปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไปสู่ระดับสากล 4. การบัญญัติ แก้ไข และบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพโดยรวม และ 5. ปรับการจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และการแสวงหาทางออกทางการเมืองนอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ กมธ.ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนกัน เช่น การส่งเสริมการเคารพอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดเพื่อนำไปเสนอต่อสภา การที่คณะ กมธ.มีองค์ประกอบจาก ส.ส.ทั้งจากฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งมีผู้รู้มาเป็นที่ปรึกษาจำนวนมาก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดี ทำให้การศึกษาเรื่องนี้มีความรอบด้าน และรู้ดีว่าประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คาดหวังและรอคอยข้อเสนอที่ดีต่อกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์เผยว่า การทำงานของคณะ กมธ.มีแนวโน้มขยายเวลาจากกรอบเวลาเดิมที่ได้รับมา 90 วัน และตั้งหัวข้อในการศึกษาพิจารณาที่ชัดเจน รวมถึงการลงพื้นที่รับฟังปัญหา อย่างน้อย 2-3 ครั้ง พร้อมคาดว่าจะทยอยมีข้อสรุปในประเด็นใหญ่ๆ ที่เป็นประโยชน์อีกครั้ง
สำหรับการทำงานของฝ่ายบริหารที่ไม่เป็นเอกภาพนั้น หมายถึงหน่วยงาน ศอ.บต. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า นายจาตุรนต์ชี้แจงว่า การทำงานของภาครัฐมี 2 ส่วน คือคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ซึ่ง กมธ. จะศึกษาดูว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร อีกส่วนคือการบริหารความรับผิดชอบการแก้ปัญหาความขัดแย้งจากผลกระทบของคำสั่ง คสช. จะเห็นได้ว่าแต่ละหน่วยงานที่ดูแลเรื่องชายแดนภาคใต้รับบัญชาการจากนายกรัฐมนตรีทั้งหมด แต่ไม่มีการประสานเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน แต่ละหน่วยงานยังถือกฎหมายคนละฉบับทั้งนี้ คณะ กมธ.ได้รับทราบข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเรื่องการยุบ กอ.รมน. และได้เห็นปัญหาความลักลั่นไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งทาง กมธ.จะต้องดูว่าองค์กรที่เหมาะสมในการรับผิดชอบแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ควรจะเป็นอย่างไร
สำหรับการแก้ปัญหากฎหมายพิเศษต่างๆ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก คณะ กมธ. จะหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมจากองค์ความรู้ของฝ่ายต่างๆ ให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติตามได้หรือไม่ กฎหมายเหล่านี้ควรจะใช้หรือไม่ใช้อย่างไร ควรยกเลิกหรือไม่ แต่บางเรื่องไม่ใช่ปัญหาเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นปัญหาระดับประเทศ โดย กมธ.มีหน้าที่ทำข้อเสนอที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เช่นความเห็นเรื่องการกระจายอำนาจ หรือ รูปแบบการบริหารปกครองพิเศษ หรือไม่นั้น นายจาตุรนต์ยืนยันว่า จะต้องมีการพูดคุยแน่นอน เรื่องเหล่านี้ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ได้ข้อสรุป หาเรื่องมีผลกระทบต่อทั้งประเทศ พร้อมย้ำว่า การกระจายอำนาจของทั้งประเทศ ขณะนี้มีสถานะถอยหลัง ส่วนรูปแบบการปกครองพิเศษ ต้องยอมรับว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจาก กทม. และเมืองพัทยา ดังนั้น ต้องหาสมดุลที่ควรมีการกระจายอำนาจมากขึ้น เหมือนหลายจังหวัดที่ควรจะเป็นอยู่แล้วส่วนจะมีกฎหมายมาคุ้มครองผู้เห็นต่างและผู้อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาจากประเทศต่างๆ รวมถึงการทำงานที่ผ่านมาของประเทศไทยด้วย แต่ปัญหานี้ก็มีความซับซ้อน เนื่องจากหาเรื่องที่มีการดำเนินคดีและมีประชาชนผู้เสียหาย การจะออกกฎหมายเพื่อระงับการดำเนินคดีหรือนิรโทษกรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แต่ก็ต้องคิดหากฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่นที่พูดกันมากถึงกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่คณะ กมธ.ต้องพิจารณา