ขาดอีก 4 คน! รายชื่อ สว.ใกล้ครบ ขอเปิดอภิปราย “รัฐบาลเศรษฐา” ทิ้งทวน

รายชื่อสมาชิกวุฒิสภา ใกล้ครบ! ขอเปิดอภิปราย”รัฐบาลเศรษฐา”ทิ้งทวน “สว.เสรี”เผยขาดอีก 4 คน คาดได้ถกไม่เกินมีนาคมนี้ ปูดหนักเจอสกัดขวางร่วมลงชื่อ รอนัดถกอีกรอบวันนี้(15 ม.ค.)

วานนี้ (14 ม.ค.67) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.)ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่เป็นแกนนำของ สว.ในการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นขอเปิดอภิปรายรัฐบาลทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 กล่าวถึงความคืบหน้าในการรวบรวมรายชื่อ สว.ที่ต้องให้ได้อย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวน สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ คือ ไม่น้อยกว่า 84 คน ว่า ตอนนี้มี สว.มาร่วมลงชื่อแล้วประมาณ 80 คน ซึ่งก็ยังขาดอยู่อีกประมาณ 4 คน แต่จะรวบรวมรายชื่อให้ได้เกินจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เล็กน้อย โดยคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ จะมีการประชุมหารือ เรื่องการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค.นี้ เวลา 09.30 น.โดยหากเปิดอภิปรายได้ ก็คาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือน ก.พ.หรือ มี.ค.นี้ ตามที่เคยบอกไว้

“ยังเชื่อว่าจะได้รายชื่อครบ แต่ก็มีข่าวออกมาว่า มีการสกัดกั้นอยู่ มีการขอร้องไม่ให้มีการมาร่วมลงชื่อกันก็มี ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้น เพราะการหา สว.มาร่วมลงชื่อ 84 คน จริงๆ น่าจะใช้เวลาไม่นาน แต่ปรากฏว่า ก็ต้องใช้เวลาหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะ สว.แต่ละคนคงอยากจะขอพิจารณารายละเอียดในญัตติที่จะมีการอภิปรายก่อน เราก็มองในแง่ดีไว้ก่อน” นายเสรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยรายละเอียดของญัตติขอเปิดอภิปรายดังกล่าวของ สว.ที่กำลังเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อดังกล่าวว่ามีทั้งสิ้น 7 ประเด็น เช่น 1.ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน อาทิ การสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ ที่ยั่งยืนให้ประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจน ที่ตั้งคำถามถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม , สภาพปัญหาการทำนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ชอบด้วยกฎหมายไม่สร้างภาระหนี้ให้ประชาชน , การแก้หนี้นอกระบบ ที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาต้นตอในระดับครัวเรือน , การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมประมง , การสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ และ 2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน , การทุจริตคอร์รัปชัน ยาเสพติด , การลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ , การเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน จะรับมืออย่างไร เป็นต้น