“กองทุนน้ำมัน” แย้มหากรัฐไม่ลดภาษีต่อ สามารถ “ตรึงราคาดีเซล” ได้แค่ 1 เดือน

กองทุนน้ำมัน ยันตรึงดีเซลต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ หากไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษี จะมีศักยภาพรักษาราคาไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ได้อีกแค่ 1 เดือน

วันที่ 19 ธ.ค. 2566 รายงานข่าวแจ้งว่าปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร ภายใต้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการลดภาษีสรรพสามิตลง 2.50 บาท/ลิตร ซึ่งหากมาตรการลดภาษีสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธ.ค.2566 นี้และไม่มีการต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีก กองทุนจะสามารถบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคาดีเซล เพื่อตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ได้อีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น ดังนั้นจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่ที่นโยบายรัฐบาล

สำหรับความคืบหน้าในการกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนได้กู้เงินและใช้ไปแล้วรวม 65,000 ล้านบาท ยังเหลือเงินที่จะใช้ได้อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท จากจำนวนเงินที่บรรจุเป็นหนี้สาธารณะไปแล้ว 110,000 ล้านบาท ภายใต้วงเงินทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่อ่อนตัวจากที่เคยประเมินไว้ จะทำให้ฐานะกองทุนจนถึงสิ้นปี 2566 คาดว่าจะติดลบ 80,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ 100,000 ล้านบาท จากปัจจุบันฐานะสุทธิกองทุน ณ วันที่ 17 ธ.ค.2566 ติดลบ 78,680 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชี น้ำมันติดลบ 32,569 ล้านบาท บัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) หรือก๊าซหุงต้มติดลบ 46,111 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้กองทุนจะมีสภาพคล่องดีขึ้น แต่ประมาณการฐานะกองทุนยังติดลบจำนวนมาก จึงยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงมีความผันผวนสูงอย่างใกล้ชิด

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) กระทรวงพลังงาน  เปิดเผยว่า ปี 2566 สกนช.ได้ปฏิบัติภารกิจใตามมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในปี 2566 ใช้กลไกกองทุนและลดภาษีสรรพสามิตในการปรับลดราคาขายปลีกดีเซลไปแล้วรวม 7 ครั้ง เพื่อตรึงราคาไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร ก่อนมายืนอยู่ที่ไม่เกิน 32 บาท/ลิตรในระยะเวลาหนึ่ง และปัจจุบันราคาลดลงมาอยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร เพื่อไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566

ส่วนราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ทยอยปรับราคาจาก 408 บาท/ถัง 15 กก. เป็น 423 บาท/ถัง 15 กก. ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2566 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2567 เนื่องจากราคาแอลพีจียังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการในประเทศต่อเนื่องเป็นภาระค่าครองชีพของประชาชน

ในส่วนของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ได้ใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.2566-31 ม.ค.2567 ทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลดลง 2.50 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 1 บาท/ลิตร ส่วน E20 และ85 ลดลง 80 สตางค์/ลิตร