นายกรัฐมนตรี ลุยคุยบิ๊กนักธุรกิจญี่ปุ่นกระตุ้นลงทุนไทย ปลื้ม ‘ฮอนด้า-อีซูซุ‘ จ่อลงทุนไทยร่วม 7 หมื่นล้าน มั่นใจรัฐบาลอยู่ 4 ปี ทุกโครงการสำเร็จแน่
วันที่ 15 ธ.ค.2566 เวลา 16.30น.(ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) ที่โรงแรมอิมพีเรียลโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการเยือนญี่ปุ่นวันแรก ว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าได้เจอนายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งโดยตรงก็ได้แสดงความยินดีไปเขายังบอกว่าจะจดจำไว้ เพราะตนคือคนแรกที่ได้มาร่วมงานในตำแหน่งดังกล่าว ก่อนร่วมงานสัมนากับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมรับฟังประมาณ 500 คน โดยยืนยันว่าประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันยาวนาน และญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ในประเทศไทย ลงทุนไปหลายล้านล้านบาทแล้ว โดยตนได้แจ้งถึงแนวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยว่าเราจะทำอะไรบ้าง ทั้งการลงทุนในกรีนเอนเนอจี อิเล็กทรอนิกส์พาร์ท รวมถึงเมกะโปเจกต์ต่าง ๆ เช่นโครงการแลนด์บริดจ์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้พบกับผู้บริหารบริษัท มิตซุยกรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่สุดของญี่ปุ่น พูดคุยถึงการสำรวจและขุดเจาะแหล่งก๊าชธรรมชาติ ที่เขาสนใจและชำนาญ และความเป็นไปได้ในการใช้นำน้ำมันพืชใช้แล้วมาทำเป็นน้ำมันเครื่องบิน และตลอดทั้งวันได้พูดคุยกับ 7 บริษัทยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น คือ บริษัทฮอนด้าที่เขาลงทุนในไทยเยอะมาก และมีแผนลงทุนในไทย 5 หมื่นล้าน ในอีก 5 ปี ซึ่งตนได้บอกไปว่าไม่ต้องห่วงเรื่องการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสันดาบในรถยนต์ไปเป็นอีวี เราให้ความสำคัญ เพราะอีกหลายคนทำงานในบริษัทเครือข่ายยานยนต์ของญี่ปุ่น ตนพยายามเร่งให้เขาสร้างโรงงานกรีน เอนเนอจีและปลั๊กอิน-ไฮบริด ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เคยแถลงไว้
“อีกบริษัทคือนิสสัน ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ เขาเข้ามาในรถอีวีก่อนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาคือ นิสสัน ลีฟ ก็ยืนยันว่าจะทำต่อเนื่องในเมืองไทย ต่อมาคือมิตซูบิชิ ที่ทำรถกระบะเขาก็จะพัฒนารถกระบะอีวี ซึ่งรถกระบะเป็นรถที่ขายดีในไทยฉะนั้นการจะเปลี่ยนรถกระบะเป็นอีวีในไทยเพื่อพลังงานสะอาดถือเป็นปัจจัยสำคัญ ตนก็ได้เร่งให้เขาลงทุนให้เร็วขึ้น เพราะการเปลี่ยนจากสันดาบไปเป็นอีวีก็ค่อนข้างรวดเร็ว เขาจะใช้เราเป็นฐานในการส่งรถกระบะไปขาย อีกไม่กี่ปีก็จะเริ่มแล้ว รวมทั้งได้คุยกับบริษัทซูซูกิ แม้เป็นบริษัทเล็กแต่อยู่ในไทยมานาน เขาทำอีโค่คาร์คือซูซูกิสวิฟท์ เขาขอให้เราส่งเสริมต่อ ผมก็แนะนำให้ทำมอเตอร์ไซไฟฟ้า เพราะเมืองไทยขายดี และยังได้หารือกับบริษัท อีซูซุ ซึ่งเขาก็พร้อมลงทุนอีกประมาณ 32,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เขาลงทุนไป 2 หมื่นกว่าล้านบาท ฉะนั้น 32,000 กว่าล้าน ในระยะเวลา 5 ปี จึงถือว่าเยอะกว่าช่วงที่ผ่านมา” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากนั้นได้หารือกับผู้บริหารบริษัทมาสด้า ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งรถไปขายประเทศต่าง ๆ เขามั่นใจว่ารถเอสยูวีของเรามีสมรรถนะที่ดีส่งขายยังต่างประเทศได้ บริษัทเหล่านี้พยายามลงทุนเพิ่มในไทย แรงงานของไทยพึ่งบริษัทเหล่านี้เยอะ และบริษัทสุดท้ายที่คุยคือโตโยต้า คือบริษัทที่ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่เมืองไทยมา 60 ปีแล้ว ประธานของบริษัทมาพูดคุยเองและเขาก็เคยอยู่เมืองไทยมาก่อน ถือว่าเข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดี ได้พูดคุยถึงการทำรถกระบะที่เขาขายดี คือโตโยต้าไฮลักซ์ โดยภายในปี 2025 เขาจะเริ่มผลิตแล้วแม้จะช้าไปบ้างนิด แต่ผลิตเพียง 5,000 คัน ตนก็ได้ถามไปว่าทำไมผลิตน้อย ซึ่งสิ่งที่เขาเป็นห่วงคือสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ตนจึงยืนยันไปว่าเราขยายเครือข่ายตรงนี้ไปมากแล้ว ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน เขาก็จะกลับไปพิจารณา การเร่งผลิตรถกระบะอีวีให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ อีกส่วนของโตโยต้าเขาทำเรื่องไฟแนนซ์รถยนต์สอดคล้องกับการแก้หนี้ในระบบ หากเขาช่วยเราได้ในส่วนนี้ไม่ว่าจะเป็นการบีบดอกเบี้ยหรือปรับเบี้ยปรับ ก็ต้องรบกวนด้วย
“สิ่งที่ตนได้พูดคุยในวันนี้คือการเร่งให้แต่ละบริษัทลงทุนอีวีให้เร็วขึ้น เพราะบริษัทเหล่านี้อยู่ในไทยมา 50 ปีถึง 60 ปีมีความเป็นไทยมองตาก็รู้ใจ อีกอย่างคือพูดคุยถึงการใช้พลังงานสะอาดที่จะเป็นหัวข้อหลักในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นสมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในวันที่ 17 ธ.ค.” นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่าพอใจการหารือกับนักธุรกิจญี่ปุ่นตลอดทั้งวันหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พอใจมากเพราะญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญของเรา และพูดจากันด้วยท่าทีที่ดี และเป็นมิตร ด้วยท่าทีที่ดี ไม่ต้องเป็นห่วง แต่เราก็พยายามให้เขาเร่งการลงทุนเข้ามา เพราะโลกเปลี่ยนไปมาก และบีโอไอ เตรียมข้อมูลไว้ก่อนอย่างดีมาก
เมื่อถามว่าประเมินหรือไม่ว่าโอกาสในการหารือจะสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์ ในรัฐบาลชุดนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลตนอยู่ 4 ปีทุกโครงการก็สำเร็จ เพราะเขาจะเข้ามาเร็ว บางบริษัทเข้ามาปีหน้าแล้ว ขณะนี้บางเรื่องเริ่มการลงทุนแล้ว แต่อาจจะมีเรื่องของรถยนต์ไฮโดรเจน ซึ่งไม่แน่ใจว่าใช้ระยะเวลานานเพียงใด แต่เรื่องอื่นก็กำลังดำเนินการอยู่.