โลกประณามอิสราเอล’อักษะแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’หลังปฏิเสธมติUNให้ปฏิบัติตามกม.สิทธิมนุษยชน

กระแสในโลกออนไลน์กล่าวหาอิสราเอล-อเมริกา #อักษะแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ [Axis of Genocide] หลังปฏิเสธมติการประชุมพิเศษฉุกเฉินESS ในกรอบสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ โดย 120 ประเทศโหวตฝห้อิสราเอลคำนึงด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ได้รับการปฏิเสธจากอิสราเอล โดยมีอเมริกาหนุนหลัง
วันที่ 28 ตุลาคม (ตามเวลาในประเทศไทย) การประชุมรอบพิเศษฉุกเฉิน [ESS] 2 วันสองวัน ในกรอบสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ [UNGA] ได้เสร็จสิ้นลงด้วย ด้วยการโหวตข้อมติที่ร่างโดยจอร์แดนว่าด้วย “Protection of Civilians and Upholding Legal and Humanitarian Obligations” อันมีสาระสำคัญ 5 ประการ คือ

■ ร้องขอให้ทุกฝ่าย “ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ #โดยทันทีและครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองพลเรือน ตลอดจนวัตถุและสิ่งปลูกสร้างของพลเรือน
■ รุกเร้าให้มีการคุ้มครองบุคลากรด้านมนุษยธรรม พลเรือนที่ตกอยู่ในการสู้รบและพลรบที่ไม่สามารถทำการสู้รบได้อีก [persons hors de combat] สิ่งปลูกสร้าง สินทรัพย์ และสิ่งที่จะอำนวยการดำเนินการด้านมนุษยธรรม รวมทั้งเปิดทางและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสิ่งของและบริการที่จำเป็นด้านมนุษยธรรม ให้ไปสู่พลเรือนทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือในกาซา
■ เรียกร้องอิสราเอล ในฐานะ #อำนาจที่เข้ายึดครอง [the occupying Power] ยกเลิกคำสั่งที่ให้พลเรือนปาเลสไตน์ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม อพยพออกจากพื้นที่ทั้งหมดในตอนเหนือของกาซา และวาดี กาซา เพื่อเคลื่อนย้ายไปทางใต้
■ เรียกร้องให้ปล่อยตัวพลเรือนทุกคนที่ถูกควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมาย #โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมกับเรียกร้องการรับประกันความปลอดภัย สวัสดิภาพ และการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศต่อพลเรือนเหล่านั้น
■ ยืนยันอีกครั้งว่า #การแก้ปัญหาที่ยุติธรรมและยั่งยืน ต่อความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอล จะสามารถบรรลุด้วยวิธีการสันติเท่านั้น ด้วยการยึดถือข้อมติของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง และการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของแนวทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ [the two-State solution]
ที่ประชุม ESS เห็นชอบข้อมติข้างต้นด้วยการโหวตสนับสนุนจาก 120 รัฐ รวมถึงไทย ส่วนเสียงไม่เห็นชอบมี 14 รัฐ และงดออกเสียง 45 รัฐ ในจำนวนเสียงส่วนน้อย 14 รัฐ ที่โหวตค้านการช่วยเหลือตัวประกันและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมว่า เป็นลำดับความสำคัญแรกสุด ประกอบด้วย อิสราเอล สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย โครเอเชีย เช็ก ฟิจิ กัวเตมาลา ฮังการี หมู่เกาะมาร์แชล ไมโครนีเซีย นาอูรู ปาปัวนิวกินี ปารากวัย และตองกา ท่าทีดังกล่าวทำให้เริ่มมีกระแสในโลกออนไลน์กล่าวหาพวกเขาว่า #อักษะแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ [Axis of Genocide] และหลายคนก็คิดว่า ข้อกล่าวหานี้ควรขยายรวมไปถึงกลุ่มรัฐที่งดออกเสียงด้วย เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์

การผ่านข้อมติในกรอบ UNGA นี้แตกต่างจากข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง [UNSC] จากจุดอ้างอิงหลักคือ มาตรา 24-25 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ตรงที่ไม่มีพันธะผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยตัวของข้อมติเอง แต่ก็ได้อ้างอิงไปยังกรอบกฎหมายระหว่างประเทศสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ [IHL] และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ [IHRL] รวมทั้งข้อมติ UNGA ยังเป็นเครื่องวัดระดับอุณหภูมิแรงกดดันของประชาคมระหว่างประเทศต่อสถานการณ์
ประสิทธิภาพของการบังคับกติกานี้ จำเป็นต้องติดตามด้วยมาตรการหลายระดับ ด้วยหลายเครื่องมือของรัฐสมาชิก ทั้งในฐานะรัฐ และในฐานะกลุ่มและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการกดดันคู่กรณีอย่างเข้มข้น มาตรการเช่นว่า ในทางแนวปฏิบัติมีตั้งแต่เบาสุด เช่น มาตรการเรียกทูตมารับฟังความกังวลและข้อเรียกร้อง การคว่ำบาตร ไปจนถึงหนักสุดคือ การลดระดับและตัดความสัมพันธ์ทางการทูต และการขับออกจากกรอบความร่วมมือ
ซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า การปิดปากเงียบของโลกต่อการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่าของอิสราเอลมาอย่างยาวนาน 70 กว่าปี เป็นสิ่งที่ผลักตะวันออกกลางทั้งภูมิภาคมาสู่จุดแห่งวิกฤตการณ์นี้
ขณะที่แคนาดางดออกเสียงโดยให้เหตุผลว่า ข้อมติปราศจากถ้อยคำระบุการกระทำของฮะมาสว่าเป็นการก่อการร้าย ปากีสถานตอบโต้ว่า ถ้าเช่นนั้น ข้อมติก็ต้องระบุอิสราเอลว่าก่อการร้ายด้วย เมื่อพิจารณาจากการที่อิสราเอลเข้ายึดครองและเข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ โดยลอยนวลพ้นจากการเอาผิดมาโดยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
อิสราเอลไม่พอใจต่อการปราศจากข้อประณามฮะมาสในข้อมติเช่นกัน และกล่าวว่า วันนี้คือวันที่โลกตกต่ำลงไปสู่ความอัปยศ เมื่อได้เห็นแล้วว่า สหประชาชาติไม่มีความชอบธรรมแม้แต่น้อย ในการไร้ข้อดำเนินการต่อฮะมาส ที่เป็นฝ่ายเปิดสงครามก่อน แต่มุ่งมั่นอยู่แต่กับการยับยั้งสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง อิสราเอลปฏิเสธว่า มันไม่มีวิกฤตด้านมนุษยธรรมใดใดตามนัยแห่งกฎหมาย IHL เกิดขึ้นทั้งนั้นในกาซา เพราะข้อมูลสถิติที่มาฝ่ายเดียวจากฮะมาส และดังนั้น อิสราเอลจึงปฏิเสธดำเนินการตามข้อมติ UNGA และยืนยันการใช้มาตรการทางการทหารเข้าทำลายล้างฮะมาสอย่างถอนรากให้สิ้นซาก เพื่อนำตัวประกันออกมา
Cr. ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์. อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงศึกษาและการศึกษาการก่อการร้าย
Credit ภาพประกอบจาก UN News Center