“พิพัฒน์”เข้ากระทรวงแรงงาน ประกาศยกเป็นกระทรวงศก. ขอสานต่องานเดิม

35

“พิพัฒน์ รัชกิจปราการ”  เข้า กระทรวงแรงงาน ประกาศยกระดับเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ สานต่องานเดิม”ของ “สุชาติ ชมกลิ่น” ไม่เริ่มต้นนับ 1 ใหม่! พร้อมนัดพบหารือ “สนั่น อังอุบลกุล” สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

วันที่ 7 ก.ย.2566 เวลา 08.15 น.นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้อำนวยการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และว่าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา ว่าที่เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และ นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ว่าที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เดินทางเข้ากระทรวงแรงงาน โดยเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน รวม 5 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร จุดที่ 2 พระพุทธชินราช จุดที่ 3 ศาลพระภูมิชัยมงคล จุดที่ 4 ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ และ จุดที่ 5 ศาลพ่อปู่สุชินพรหมมาจากนั้นเวลา 9.00 น. นายพิพัฒน์ ได้ประชุมหารือร่วมกับ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงฝ่ายข้าราชการประจำ ประกอบด้วย อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์

นายพิพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ ก่อนร่วมประชุมกับข้าราชการประจำว่า วันนี้ถือโอกาสฤกษ์งามยามดีจึงเข้ามากราบสัการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพบปะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ยังไม่ได้ให้นโยบายอะไร เนื่องจากต้องรอรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11-12 กันยายนนี้ให้เสร็จก่อน หลังจากนั้น ตนพร้อมปลัดกระทรวงแรงงานและข้าราชการกระทรวง จะมาทำนโยบายเพื่อแถลงนโยบายให้ชาวกระแรงทรวงงานและพี่น้องแรงงาน ลูกจ้างและนายจ้างทราบว่า หลังจากนี้ไปตลอด 4 ปีข้างหน้ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง กระทรวงแรงงานที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลมาจะทำอะไรบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ตนตั้งเป้าหมายและอยากจะทำให้ได้ คือ การเห็นกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ เพราะแรงงานเข้าถึงทุกองคาพยพของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน ดังนั้น จึงต้องหารือกันเพื่อยกระดับแรงงานไทยเมื่อถามถึงภารกิจสำคัญอันดับแรกๆ ที่จะดำเนินการ นายพิพัฒน์กล่าวว่า ตนขอเวลาศึกษาข้อมูลก่อน เพราะวันนี้ วันแรกยังไม่ได้เรียนรู้อะไรมากมายแต่หลังจากหารือร่วมกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ปลัดกระทรวงแรงงานไป ก็จะทราบถึงสิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะทำ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ตนขอพบกับ 3 ฝ่าย โดยเฉพาะสหภาพแรงงาน นายจ้าง และข้าราชการให้ครบ เพื่อนำความคิดมาประมวลกัน

เมื่อถามถึงแรงกดดันต่อตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ยืนยันว่าตนไม่ได้มีความกดดัน เพราะในอดีตตนเคยเป็นผู้บริหารภาคธุรกิจมีลูกจ้างนับพันคน ปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือครอบครัวมีลูกจ้าง 2-3 หมื่นคน ฉะนั้นตนได้เรียนรู้ถึงการดูแลแรงงานมาตั้งแต่อยู่ภาคธุรกิจ เมื่อมาอยู่กระทรวงแรงงานต้องทำความเข้าใจกับการทำงานกับข้าราชการ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนเพราะคำว่าข้าราชการและคำว่าธุรกิจ การดูแลกับการตัดสินใจก็จะเป็นคนละรูปแบบ

เมื่อถามว่า นโยบายเดิมมีอะไรที่อยากสานต่อ นายพิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับภารกิจเดิมที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ทำเอาไว้ดีอยู่แล้ว ตนก็จะเดินต่อแน่นอน จะไม่นับ 1 ใหม่เด็ดขาด สิ่งที่ดีก็ควรจะต่อยอด ไม่ใช่ว่าดีอยู่แล้ว แต่ตนมาใหม่แล้วเข้ามาเปลี่ยน เราไม่มีเวลานับ 1 ใหม่ เราควรต้องนับ 9 นับ 10 เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่นายสุชาติทำไว้ดี เราควรต่อยอดเพื่อประหยัดเวลา เพราะในวันนี้รัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เราไม่มีเวลาฮันนีมูน ไม่มีเวลาพักศึกษา เรามีอย่างเดียวคือ เข้ามาแล้วเริ่มงานได้เลย ใครเริ่มเร็วกว่าคนนั้นถึงเส้นชัยก่อน

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ มีกำหนดการเดินทางไปพบปะหารือกับกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในวันที่ 8 กันยายนที่อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยพบกับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย เพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการ และข้อเสนอแนะ นอกจากนี้ ยังมีนัดหมายพบปะตัวแทนผู้ใช้แรงงานในสัปดาห์ต่อไปอีกด้วย