นักวิชาการ มอง เกมจัดตั้งรัฐบาล เมื่อ พท. สลับขั้ว ส่ง ก.ก. เป็นฝ่ายค้าน

นักวิชาการวิเคราะห์พรรคเพื่อไทย (พท.) กลายเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้เดินหน้ารวบรวมเสียง ส.ส.และ ส.ว.เพื่อให้ได้เสียงอย่างน้อย 375 เสียง โดยทาบทามพรรคอื่นเพิ่ม เพื่อเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรค พท.ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 27 กรกฎาคมนี้

ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ตกอยู่ในเกมที่ต้องแก้สมการงานยาก เนื่องจาก พรรคก้าวไกลต้องเล่นเกมที่ ทำให้พรรคเพื่อไทยมีอุปสรรค นั่นคือการที่พรรคก้าวไกลประกาศสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ผมมองว่าไม่ได้เป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทย แต่จะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถขยับเขยื้อน ในการปรับสมการได้สักเท่าไหร่ ท้ายที่สุดหากมีการปรับสมการไปสู่การข้ามขั้ว และให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน

จำเลยสังคมคือพรรคเพื่อไทย การตอบคำถามต่อความชอบธรรมทางการเมืองต่างๆ ก็จะเป็นปัญหา ยังไม่รวมว่าสมการดังกล่าว มีพรรคพลังประชารัฐอยู่ในนั้นด้วย คำถามเรื่องอีกลุงที่ยังเหลืออยู่ แม้ว่าลุงหนึ่ งจะประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว แต่อีกลุงที่ยังเหลืออยู่จะตอบคำถามกับสังคมอย่างไร

ถ้าจะเลือกเอาเสียงจากพรรคของลุงหนึ่ง ซึ่งวางมือแล้วอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่นั่นก็เป็นเงื่อนไขที่ คุณเศรษฐา ทวีสิน ตั้งไว้ว่าไม่เอาพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กปปส.เข้ามา ส่วนพรรคพลังประชารัฐถ้าจะเอาเข้ามาก็ต้องไม่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในสมการตรงนี้ เป็นเงื่อนไขที่ซับซ้อน ท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยจะถอดสมการไม่ออก นี่คือปัญหาใหญ่

หากมองจากท่าที และ การเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยตอนนี้ ผมคิดว่าพรรคภูมิใจไทย คือ ตัวเลือกที่ดีที่สุดเพราะเป็นพรรคอันดับที่ 3 หรือ 71 เสียง ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลผสม พรรคที่ได้อันดับ 3 คือพรรคที่มีความสำคัญอย่างมาก ต้องอาศัยความสมดุลทางการเมือง เราจะเห็นได้ว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกลที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ไม่มีพรรคอันดับ 3 ซึ่งเป็นพรรคขนาดกลาง แต่เป็นพรรคที่ได้ต่ำกว่า 10 ที่นั่งทั้งหมด

เมื่อเป็นเช่นนั้น พรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม ถ้าถอดปลั๊กซึ่งกันและกัน ทุกอย่างจบเลย เพราะไม่มีพรรคอันดับที่ 3 ที่จะพยุงรัฐบาล ทำให้เกิดการไปดึงเอาพรรคอื่นๆ มาร่วม ถ้าเกิดสถานการณ์วิกฤตขึ้นมา เมื่อมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย จะด้วยประสบการณ์ทางการเมือง ความเก๋าเกมต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย ที่เห็นภาพการเมืองมายาวนานกว่าพรรคก้าวไกล เขาก็ต้องดึงพรรคภูมิใจไทยมา และผมคิดว่านั่นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่พรรคเพื่อไทยจะทำได้

ด้วยความเป็นมา ภูมิหลัง และรากเหง้าของพรรคภูมิใจไทยกับทางพรรคเพื่อไทยก็มาจากที่เดียวกัน จากอดีตไทยรักไทย มาสู่พลังประชาชน และแตกตัวออกไปเป็นพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค คือคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เข้าสู่การเมืองในสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ แล้วชวนเข้ามาทำงานการเมือง ตรงนี้เองก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าคุยกันไม่ยากหรอก ในแง่ความสัมพันธ์

อย่างไรก็ดี พรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวไม่พอทำให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ แล้วเงื่อนไขสำคัญของพรรคภูมิใจไทยคือ ไม่ร่วมกับพรรคก้าวไกล ฉะนั้นไม่ใครก็ใครที่ต้องไป ถ้าพรรคก้าวไกลต้องไป ก็มีถึง 150 เสียง (ถ้าตัดพิธาออก) ที่จะมาร่วมโหวตได้ เรียกว่าประมาณเกือบ 2 เท่าของพรรคภูมิใจไทย

ดังนั้นถ้าพรรคเพื่อไทยจะเลือกเอาพรรคภูมิใจไทยก็ต้องไปหาพรรคมาเติม นั่นหมายความว่าพรรคก้าวไกลจะต้องออกไป จะไปติดกับโจทย์ใหญ่ข้อแรก ที่พรรคก้าวไกลประกาศว่าจะอยู่กับพรรคเพื่อไทย นี่คือปัญหาใหญ่ ส่วนพรรคอื่นๆ เช่น พรรคพลังประชารัฐ ผมว่าก็ติดอยู่เรื่องเดียวคือ พล.อ.ประวิตร แก้ง่ายกว่าด้วยซ้ำ อย่างมากที่สุดก็ขอให้ พล.อ.ประวิตรลาออกจาก ส.ส. ประกาศวางมือการเมือง เหมือน พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนบรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ กปปส. อย่างมากก็ต้องไม่ให้เป็นรัฐมนตรี ยังง่ายกว่า แต่การจะแก้สมการโดยเอาพรรคก้าวไกลออก อันนี้เป็นเรื่องที่หนักอย่าลืมว่าฐานอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมที่เหลือ เป็นฐานอุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกัน กลุ่มที่เป็นผู้สนับสนุน หรือ ผู้ที่เลือกพรรคเหล่านี้เข้ามา ก็มีความคิดคล้ายคลึงกัน อาจจะต่างกันในรายละเอียดบ้าง เช่น การสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ที่อาจจะไม่เหมือนกัน บางคนเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะสนับสนุนเศรษฐา ทวีสิน,แพทองธาร ชินวัตร บางคนเลือกพรรคก้าวไกลเพราะสนับสนุนพิธา หรือในบางประเด็นอย่างเช่น เลือกจากนโยบาย แม้กระทั่งการแก้ไขมาตรา 112 แต่ว่าในภาพใหญ่ก็เป็นอุดมการณ์ในทิศทางเดียวกัน ฉะนั้นถ้าใน 8 พรรคมีการขยับเขยื้อนแล้วไม่อยู่ด้วยกัน คำถามเกิดขึ้นแน่นอน จากคนซึ่งอยู่ในขั้วอุดมการณ์เดียวกัน แม้จะเลือกพรรคเหล่านี้เข้าไปก็ตาม นี่คือโจทย์ที่แก้ยาก

วันนี้พรรคเพื่อไทยเองอาจจะต้องค่อยๆ ขยับ ปรับสมการในการล้างไพ่ไปเรื่อยๆ แต่จะปรับแบบทันที ฉีก MOU ทิ้งเลย เป็นเรื่องใหญ่สำหรับพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าค่อยๆ ขยับ ค่อยๆ ลดเงื่อนไขไปทีละเรื่อง เช่น ถ้าเอาพรรคภูมิใจไทยเข้ามา แม้จะยังไม่รับพรรคก้าวไกล ก็อาจจะต้องมีการเจรจากับพรรคก้าวไกลว่า ในเมื่อวันนี้ บริบททางการเมืองและเงื่อนไขเปลี่ยนไป ให้ก้าวไกลถอดเรื่องการแก้ไข ม.112 ออกก่อนได้ไหม เพื่อเสียงของพรรคร่วมเหล่านี้ เป็นต้น

ถ้าสามารถเจรจาและพูดคุยไปได้ พรรคภูมิใจไทยเข้ามา ก็ไม่จำเป็นจะต้องอาศัยเสียง ส.ว.เลย แต่พรรคก้าวไกลอาจจะต้องไอยู่ฝ่ายค้าน สนับสนุนยกมือให้กับรัฐบาลเพื่อไทยเพื่อร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. พรรคภูมิใจไทยเข้ามาพรรคเดียวปิดสวิตช์ ส.ว.ได้ จบเลยทุกอย่าง และจะเป็นภาพที่ดูดีด้วย ว่านี่เป็นภารกิจเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ร่วมกัน และพรรคก้าวไกลก็อาจจะยอมไปเป็นฝ่ายค้าน

ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มองว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ตัดสินใจยากเพราะเป็นพรรคอันดับ 2 ที่รับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล การตัดสินใจใดๆ ขึ้นอยู่กับว่า พรรคเพื่อไทยอยู่ในสถานะใด ถ้าเป็นแกนนำเสนอนายกรัฐมนตรี และตั้งรัฐบาลใหม่ ต้องหารือ 8 พรรค ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลตาม MOU ก่อน ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร และหาเสียงสนับสนุนที่ไหน พรรคเพื่อไทยไม่สามารถตัดสินใจเพียงลำพังได้

กรณีพรรคได้ทาบทามพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เข้าร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค รวมเป็น 10 พรรคนั้น มองว่าทำได้ เพื่อเพิ่มเสียงสนับสนุนให้นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ติดเงื่อนไขว่า 2 พรรค ที่ทาบทามนั้น ได้ประกาศไม่ร่วมพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว ทำให้พรรคเพื่อไทยตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะได้ร่วมกับพรรคก้าวไกลต่อสู้กับกลุ่มอนุรักษนิยมที่เป็นเผด็จการมานาน จนชนะเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

ถ้าพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีพรรคก้าวไกล อาจถูกประชาชนโจมตี ไม่สนับสนุนอีก เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ถูกรถทัวร์ลงถล่มอย่างหนักในโลกโซเชียลมีเดียมาแล้ว

จึงเกิดคำถามว่า กลุ่มอนุรักษนิยมและเครือข่าย ไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพราะเหตุใด เพราะนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว ไม่มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงไม่มีเรื่องแก้ไข ม.112 อีก ที่เป็นเรื่องสำคัญในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก จึงเป็นไปได้ว่า กลุ่มที่ต่อต้านนายพิธาและพรรคก้าวไกล ไม่ชอบทั้งคนและพรรค เพราะประชาชนกว่า 14 ล้านเสียงสนับสนุนมากกว่า จึงอยากกำจัดให้พ้นทาง ไม่ว่าใช้วิธีใดก็ตาม โดยใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือ เพื่อสกัดฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว

จากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นโอกาสให้พรรคเพื่อไทยได้แสดงฝีมือจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยใช้การเจรจากับทุกพรรคการเมือง มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ เพื่อมีเสียงสนับสนุน 376 เสียง จาก ส.ส. 500 คน หรือเกินกึ่งหนึ่งสมาชิกรัฐสภา 749 คน ก็สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียง ส.ว. 250 คน สนับสนุนอีก เพราะ ส.ว.เหลือเวลาไม่ถึงปี ก็ครบวาระแล้ว

กรณีพรรคก้าวไกลประกาศไม่เอา 2 ลุงของพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐร่วมรัฐบาลนั้น พรรคเพื่อไทยต้องสร้างความเข้าใจ และตกลงกับพรรคก้าวไกลให้ได้ก่อน จะเชิญ 2 พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ที่สำคัญอีก 6 พรรคร่วมรัฐบาล ต้องเห็นชอบด้วย ไม่ใช่ตกลงกันเพียง 2 พรรคเท่านั้น ถือเป็นการให้เกียรติและเคารพมติ 8 พรรคร่วมรัฐบาลตาม MOU ด้วย ไม่ว่าเชิญพรรคการเมืองใดร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องประสานความสัมพันธ์ แบ่งอำนาจและผลประโยชน์ให้ลงตัว โดยยึดหลักประนีประนอม ถอยคนละก้าว พบกันครึ่งทาง เนื่องจากมีโอกาสโหวตนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่มีรอบ 2 อีกแล้ว ถ้าไม่ผ่าน ต้องรอให้ ส.ว.ครบวาระพฤษภาคมปีหน้า แล้วให้สภาเลือกใหม่ อาจส่งผลให้ประชาชนเสียโอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากขึ้นหลังรอคอยมากว่า 9 ปีแล้ว

สุดท้ายการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ต้องรอดูท่าทีพรรคก้าวไกล ว่าอยากไปต่อกับพรรคเพื่อไทยหรือหยุดเพียงเท่านี้ ถ้าไปต่อ พรรคก้าวไกลมีโอกาสทำตามนโยบายที่หาเสียง 300 ข้อได้ โดยเฉพาะนโยบายรัฐสวัสดิการ ความเท่าเทียมทางเพศ สุราก้าวหน้าและการกระจายอำนาจ ถ้าไม่ไปต่อ ถอยเป็นฝ่ายค้าน นโยบายที่หาเสียงไว้ไร้ประโยชน์ อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าได้

ส่วนตัวยังเชื่อว่า พรรคก้าวไกลยังอยากเป็นรัฐบาล เพื่อสะสมประสบการณ์ทางการเมือง และเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต เพราะมีบทเรียนแล้ว ดังนั้นต้องถอดบทเรียน เพื่อใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้าที่ประเทศและประชาชนพร้อมเปลี่ยนไปด้วยกันอย่างแท้จริง

นพพร ขุนค้า ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มรภ.ราชนครินทร์ เห็นว่า เพื่อไทย ทำถูกทางแล้ว แต่ห่วงในเรื่องของการหาเสียงเข้ามาสนับสนุน ถ้าหากสลับขั้วกับอีกฝ่ายที่ไม่ใช่ 8 พรรคร่วมเดิม หรือไปดึงพรรคที่ไม่ได้เซ็นเอ็มโอยู จะเกิดความเคลือบแคลงว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยจริงใจในการผลักดันพรรคก้าวไกลจริงหรือไม่ หรือผลักดันให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯอย่างถึงที่สุดหรือไม่ หากไปสลับขั้วหรือดึงพรรคอื่นๆ เช่น พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ แล้วไปดีดก้าวไกลออกเป็นห่วงว่าหากมีการข้ามขั้วไปถึงขนาดนั้นเลย จะทำให้เกิดความรู้สึกหรืออารมณ์ของประชาชนที่เคยคาดหวังว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต้องเป็นรัฐบาลร่วมกัน เพราะว่าคนที่เลือก 2 พรรคนี้ส่วนใหญ่ไม่เอาขั้วเดิม ทั้ง 2 ลุง และนายอนุทิน หากมีการสลับขั้วหรือสลับร่างสร้างรักใหม่ เกรงว่าอารมณ์ของคนที่ไม่พอใจจะออกมาเคลื่อนไหว เกิดความไม่สงบทางการเมือง

ความจริงนั้นมีทางออก หากพรรคเพื่อไทยไม่อยากทิ้ง 8 พรรคร่วม ต้องจับมือก้าวไกลให้แน่น ความจริงประชาชนรอได้กับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของ ส.ว.เพียง 9-10 เดือน ระหว่างนี้พล.อ.ประยุทธ์รักษาการไปก่อน เมื่อ ส.ว.หมดอำนาจจึงเริ่มต้นเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่

ถ้าเมื่อใดที่พรรคเพื่อไทยข้ามขั้ว ขับพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน เป็นการฝืนเจตนารมณ์โดยหลักของประชาธิปไตยที่ต้องปกครองโดยเสียงข้างมาก สุดท้ายการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะไม่ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

ส่วนการประเมินการเสนอชื่อเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้ พรรค
เพื่อไทยกำลังส่งเทียบเชิญหลายพรรค จึงทำให้มองว่าโอกาสที่จะโหวตผ่านนั้นมีโอกาสสูง ขณะเดียวกันรัฐบาลจะอายุยาวหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะสูญเสียมวลชนหรือไม่ พรรคเพื่อไทยอาจมองว่ามีฝีมือทางด้านเศรษฐกิจ หากเป็นรัฐบาลแล้วเศรษฐกิจดีขึ้นจะได้แฟนคลับเพิ่มขึ้น และพรรคเพื่อไทยอาจใช้ข้ออ้างที่ว่าประเทศชาตินั้นรอไม่ได้จึงต้องตั้งรัฐบาลเพื่อให้เห็นถึงความชอบธรรม