ถกสภา! โหวตนายกฯ เดือดพล่าน พท. ชง “พิธา” ซ้ำ เจองัด “ข้อบังคับฯ41” ต้าน

การประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯรอบ2เริ่มแล้ว! “เพื่อไทย”ลุกชง”พิธา”ซ้ำ เจองัด”ข้อบังคับฯ41″ค้าน ด้าน”ก้าวไกล”โวยกลับ ชี้เป็นเรื่องนอกวาระ จะหารือไม่ได้ จี้เร่งให้โหวต

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่1) ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถือเป็นการโหวตนายกฯครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมให้เป็นนายกฯ จากนั้น นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเสนอชื่อมีการประท้วงทันที จาก นายอัครเดช มุ่งพิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกโต้แย้งว่าการเสนอชื่อของนายพิธานั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะชื่อของนายพิธา เคยเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อ 13 กรกฏาคม แล้วแต่ไม่ได้รับความเห็นชอบดังนั้นจึงถือว่าเป็นญัตติที่ตกไปแล้ว ดังนั้นการเสนอญัตติซ้อนอีกครั้งไม่สามารถทำได้ และขัดกับข้อบังคับที่มีสถานะเป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ มีข้อโต้แย้งจากฝั่ง 8 พรรคร่วมรัฐบาลเช่นกัน อาทิ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เช่นเดียวกันว่า การหารือของนายอัครเดชนั้นไม่ถูกต้องเพราะเป็นขั้นตอนของการเลือกนายกฯ ตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน ขณะที่ นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ขอให้มีการรับรองเสนอชื่อผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ เพื่อให้ญัตติสมบูรณ์ ก่อนจะดำเนินการคัดค้านต่อไป ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ วินิจฉัยว่า ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนรับรองก่อน และให้นายอัครเดช รอ ทั้งนี้จากการรับรองชื่อนายพิธา พบว่ามี ส.ส.ที่รับรอง รวม 304 คน

อย่างไรก็ดี นายอัครเดช ยืนยันว่าการเสนอชื่อนายพิธาให้โหวตรอบ2นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดกับข้อบังคับข้อ41 ทำให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลและมีทีท่าว่าจะทำให้บรรยากาศในที่ประชุมวุ่นวาย ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า การประชุมวิป3 ฝ่าย นั้นมีข้อตกลงร่วมกันว่า หลังจากการเสนอญัตติบุคคลที่จะเสนอเป็นนายกฯแล้วต้องให้เสนอญัตติเพื่อถกเถียง ซึ่งจะให้ใช้เวลา 2 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี นายรังสิมันต์ กล่าวว่า วานนี้ (18 กรกฏาคม) ตนอยู่ในการประชุมวิปด้วย ซึ่งไม่มีข้อสรุปดังกล่าว ดังนั้นตนขอให้ประธานรัฐสภาวางตัวเป็นกลาง อีกทั้งในกระบวนการเลือกนายกฯ นั้นต้องยึดการทำงานในสภาฯ ต้องยึดระเบียบข้อบังคับ ทำให้ นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจง ว่า การอภิปรายยังอยุ่ในระเบียบวาระไม่ได้นอกวาระ เพราะอภิปรายเรื่องการเสนอชื่อบุคคลที่จะถูกเลือกเป็นนายกฯ ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ขอให้ว่ากันอีกที

“เมื่อวานเป็นการหารือไม่ได้ข้อยุติ แต่ต้องนำข้อหารือที่ไม่มาร่วมหารือแจ้งให้ตรงกัน หากมีความคิดเห็นไม่ตรงกันเรื่องเสนอชื่อซ้ำ หากไม่ตรงกับข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่ง อาจมีความคิดเห็นหลายฝ่าย จะให้แสดงความคิดเห็นได้ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง หรือ 120 นาที ดังนั้นเพื่อความเรียบร้อย เสมอภาค เท่าเทียม จะให้เวลา 3 ฝ่ายๆละ 40 นาที” นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจง

ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ ลุกใช้สิทธิ์พาดพิง ยืนยันว่าผลการหารือ3ฝ่าย ยอมรับว่ามีข้อเสนอจริง แต่พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย ดังนั้นต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 เพื่อให้เป็นไปตามวาระ ซึ่งกรณีที่หารือนั้นเป็นเรื่องที่อยู่นอกวาระ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากนั้นบรรยากาศของการประชุม ได้ลุกอภิปรายโต้แย้งในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยฝ่าย ส.ว.สนับสนุนต่อการอภิปรายข้อหารือในประเด็นญัตติที่ตกไปตามข้อบังคับข้อ41 ต่อไปเพราะการหารือของวิปนั้นหากข้อเสนอใดที่ไม่มีใครโต้แย้งถือว่าได้รับการยอมรับ พร้อมย้ำว่าญัตติเสนอชื่อนายพิธานั้นต้องตกไปตามข้อบังคับ แต่ยังถูกส.ส.พรรคก้าวไกล โต้แย้งเป็นระยะๆ