ความสำคัญของ’วันอารอฟะห์’ วันที่ดีที่สุดในรอบปี และการปฏิบัติตัวของมุสลิมทั่วโลก

129

วันอารอฟะฮ์ คือวันอีดที่ยิ่งใหญ่วันหนึ่งสำหรับมุสลิม ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกขนามนามว่าเป็นวันอีดก็ตาม เนื่องจากว่าในวันอารอฟะฮ์เป็นวันที่พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ได้ทรงเชิญชวนปวงบ่าวของพระองค์ให้เข้าสู่การเคารพภักดีพระองค์ พระองค์ได้ทรงเปิดประตูแห่งการปฏิบัติคุณงามความดีให้กับปวงบ่าวของพระองค์ และเป็นวันซึ่งบรรดาชัยฏอนมารร้ายต่างกรีดร้องด้วยความโหยหวล เนื่องจากความโกรธ และความต่ำต้อยที่พวกมันได้รับในวันนี้

“อารอฟะห์” เป็นชื่อของของสถานที่ ซึ่งตั้งอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมักกะห์ ห่างจากมัสยิดอัลฮารอม 17 ก.ม. โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 17.95 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างเมืองฎออิฟ และนครมักกะฮ์  “อารอฟะฮ์” ในภาษาอาหรับแปลว่า พบและรู้จัก สาเหตุที่ทุ่งแห่งนี้มีคนเรียกว่า “อารอฟะห์” บางรายงานได้มีบันทึกว่า ท่านศาสดาอาดัม (อ.) และท่านหญิงฮาวา (อ.) ได้พบกันเป็นครั้งแรกบนพื้นพิภพนี้ ณ สถานที่แห่งนี้ ด้วยเหตุนี้เอง สถานทีแห่งนี้จึงถูกเรียกว่า “อารอฟะฮ์” และในวันที่ 9 เดือนซุลฮิจญะฮ์ถูกเรียกว่า “วันอารอฟะฮ์”เป็นวันที่พระองค์อัลลอฮ์ได้สาบานในอัล-กุรอ่าน

ความสำคัญของวันอะเราะฟะฮฺ

วันอารอฟะห์ คือวันที่ 9 เดือนซุลฮิจญะฮฺ รุ่งขึ้นเป็นอีดิ้ลอัฎฮา เดือนซุลฮิจญะฮฺเป็นเดือนที่ 12 ของปฏิทินอิสลาม อันเป็นเดือนสำคัญเดือนหนึ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกำหนดเป็นหลักการหนึ่งในอิสลาม นั่นคือหลักที่ 5 ที่ใช้ให้มุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ ในช่วงของการประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ของเดือนญุลฮิจญะฮ์และเสร็จสิ้นในวันที่ 13 ของเดือนเดียวกัน ใช้เวลาในการปฏิบัติเพียง 5 วัน หรือ 6 วัน แต่ผลบุญ หรือการตอบแทนสำหรับผู้ที่ได้รับฮัจญ์ มับรูรนั้นก็คือสวนสวรรค์ เพราะท่านเราะซูล ได้กล่าวในหะดีษบทหนึ่งว่า
العُمْرةُ إلى العمْرةِ كفَّارةٌ لِما بينَها والحجُّ المبْرورُ ليسَ له جزاءٌ إلا الجنَّة (رواه مسلِمٌ رقم الحديث 3285)

“การไปเยี่ยมกะบะฮ์จากครั้งหนึ่งไปยังอีกครั้งหนึ่งเป็นการชำระบาปที่ได้กระทำผิดในช่วงนั้น และฮัจญ์ที่มับรูรนั้นไม่มีการตอบแทนใดๆ นอกจากสวรรค์เท่านั้น”

ในวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ บรรดาผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์จะรวมตัวกันอยู่ในทุ่งอารอฟะฮ์ตั้งแต่ตอนบ่ายจนตะวันตกดิน

จุดเด่นของวันอะเราะฟะฮ์ คือ

1. เป็นวันที่พระองค์อัลเลาะฮ์(ซ.ล.)ประกาศว่าเป็นวันที่พระองค์ทำให้ศาสนาอิสลามสมบูรณ์และทำให้ความโปรดปรานของพระองค์เต็มเปี่ยม มีหะดีษบทหนึ่งรายงานว่า

أنََّ رجُلاً من اليهودِ قالَ لِعمرَ بنِ الخطَّابِ : يا أمير المؤمِنين ، آيةٌ في كِتابِ الله تقْرؤُونَها ، لو علَينا معْشِرَ اليهودِ نَزَلَت لاتَّخَدنا دلك اليومَ عيْداً ، قال أيُّ آيةٍ ؟ قال : (اليومَ أكمَلْتُ لكم دينَكم وأتْمَمْتُ عليكم نعْمتِي ورَضِيتُ لكمُ الإسلامَ ديْناً) (المائدة/3) قال عمر : قدعرفْنا دلك اليومَ والمكانَ الدي نزَلَت فيه على النَّبِيِّ T وهو قائِمٌ بِعرفةَ يومَ الجمُعةِ (رواهالبخاري ومسلم)

“มีชายคนหนึ่งจากเผ่ายิวได้กล่าวต่อหน้าท่านอุมัร บิน อัล-ค๊อฏฏ๊อบว่า โอ้ อะมีรของบรรดามุอมิน มีอายะฮ์ที่พวกท่านได้อ่าน หากว่าอายะฮ์นี้ได้ประทานมาให้แก่พวกเราบรรดาชาวยิว พวกเราจะถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญของพวกเรา

อุมัรถามว่า อายะฮ์อะไรที่คุณหมายถึง ชาวยิวท่านนั้นกล่าวว่า อายะฮ์ที่มีความหมายว่า

“วันนี้ข้าได้ให้ความสมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้าและข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งความกรุณาเมตตาของข้าและข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว”

ท่านอุมัรได้ตอบว่า พวกเรารู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นและสถานที่ที่ประทานอายะฮ์นั้น คือประทานลงมาในขณะที่ท่านเราะซูล ยืนอยู่ ณ ที่ทุ่งอารอฟะหฺ์ในวันศุกร์

2. วันที่พระองค์อัลลอฮ์ได้สาบานในอัล-กุรอาน

ในคัมภีร์อัลกุรอาน พระองค์อัลลอฮ์จะสาบานด้วยสิ่งที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เช่นพระองค์ได้สาบานด้วยวันอะเราะฟะฮ์ โดยมีหลักฐานจากหะดีษที่ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า

أنَّ النبِيَّ قالَ : اليومُ المَوعُودُ : يومُ القِيامة واليومُ المشْهودُ يومُ عرفة والشاهِد يومُ الجُُمُعة) (رواه التِّرمدي)

“ (اليوم الموعود ) วันที่ได้นัดไว้ที่พระองค์ได้สาบานในอัล-กุรอาน หมายถึงวันโลกหน้า (اليوم المشهود ) วันที่มนุษย์ได้เห็น คือวันอารอะฟะฮฺ ส่วนวัน (الشاهِد ) วันที่เป็นพยาน คือวันศุกร์ “

3. วันที่พระองค์จะอภัยโทษและปล่อยบ่าวจากขุมนรก โดยมีหะดีษมาอธิบายจุเด่นของวันนี้ว่า

ما مِن يومٍ أكْثَرَ مِن أن يعْتِقَ اللهُ فيهِ عبْداً منِن النَّارِ مِن يومِ عرفةَ وإنَّه لَيدنُو ثمَّ يباهِي بِهم الملائكةُفيقولُ : ما أرادَ هؤلاء ؟ ( رواه مسلم)

“ไม่มีวันใดที่พระองค์อัลลฮฺจะปล่อยปวงบ่าวของพระองค์ให้พ้นจากขุมนรกมาก นอกจากในวันอะเราะฟะฮ์ มะลาอิกะฮ์จะเข้าใกล้พวกเขาและจะอวดพวกเขาโดยกล่าวว่า พวกเขาอยากได้อะไร”

เรียบเรียงจาก บทความ อ.อับดุลเราะมัน เจะอารง