รัฐบาลไทยชู “20 FTA – 53 ชาติ” ดึงเจ้าสัวจีนทั่วโลก เดินทางมาลงทุนไทย

“จุรินทร์” ระบุรัฐไทยผนึก “53 ชาติ เซ็น 20 ข้อตกลงเอฟทีเอ” พ่วงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หวังดึงเจ้าสัวนายทุนจีนโพ้นทะเลในเวทีประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 หันลงทุนในไทย ชูพื้นที่ EEC รองรับอุตสาหกรรมสุดล้ำ ด้าน ประธานฯหอการค้าไทย-จีน เชื่อ! เวทีประชุมที่ยึดโยงนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” สามารถรวมพลังฟื้นเศรษฐกิจโลกด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน

วันที่ 25 มิ.ย. 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, หอการค้าไทย-จีน เป็นตัวแทนประเทศไทย จัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention : WCEC) ครั้งที่ 16 ซึ่งประเทศไทยได้กลับมาทำหน้าที่เจ้าภาพจัดการประชุมฯเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อ 28 ปีก่อน เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯมาแล้ว โดยครั้งนี้ การประชุมฯครั้งประวัติศาสตร์ในรอบนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

ภายในงานมี ตัวแทนนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล ราว 4,000 คน จาก 50 ประเทศในทวีปต่างๆ ทั่วโลก เข้าร่วมประชุมฯ โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และ นายเกา หยุนหลง รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานในพิธี และมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ ประธานกล่าวเปิดงานฯ

สำหรับคนดังที่เข้าร่วมงานฯในครั้งนี้ อาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ถาวรหอการค้าไทย-จีน, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือซีพี, นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, นายหลี เสี่ยวปอ นายกสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน-ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ICBC เป็นต้น

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และประธานกรรมการจัดงาน WCEC ครั้งที่ 16 กล่าวว่า ในภาวะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกในครั้งนี้ จึงถือเป็นเวทีรวมพลังนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจากทั่วโลกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และใช้เป็นโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ และเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 สอดคล้องกับเป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ ที่จัดภายใต้หัวข้อร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยภูมิปัญญานักธุรกิจจีน โดยหวังให้มีโอกาสพัฒนาจาก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่เป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และเขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า” เชื่อมโยงกับ EEC และไทยแลนด์ 4.0 ของไทย

นายณรงค์ ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายการลงทุนที่นักธุรกิจชาวจีนให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในไทย คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าไทยจะมีรถปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอยู่แล้ว ส่วนรัฐบาลใหม่นั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็สามารถทำให้เกิดการพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายจุรินทร์ กล่าวในฐานะ ตัวแทนรัฐบาลไทย ตอนหนึ่งว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตนได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันการทำข้อตกลงทางการค้า (FTA) กับประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ และยังรอการลงนามข้อตกลงอีกหลายฉบับภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีข้อตกลง FTA รวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ กับ 53 ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป (EU) รวม 27 ประเทศ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์,  ปากีสถาน, ศรีลังกา เป็นต้น และนั่นจะช่วยสร้างโอกาสที่ดีทางด้านการค้า การลงทุน ส่งออกสินค้าของนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลก ที่มีข้อตกลง FTA กับไทย

“การจัดประชุม WCEC ครั้งที่ 16 นี้ ผมเชื่อว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบพัฒนาการทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และมองเห็นลู่ทางโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนกับประเทศไทย สะท้อนจากนโยบาย และศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ทั้งจากการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของไทยภายใต้ความตกลงทางการค้าที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึง เอฟทีเอ อาเซียน-จีน และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตลอดจนการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในรูปแบบที่มีความยืดหยุ่น” นายจุรินทร์ ย้ำและว่าจากการ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC ตลอดจนโอกาสการร่วมลงทุนกับไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ในต่างประเทศ อันเกิดจากการกระจายการเจริญเติบโตภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศอย่าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของรัฐบาลจีน จะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายอย่างมั่นคง

ส่วน นางเฉิน ซวี่ ผอ.สำนักงานกิจการชาวจีนโพ้นทะเลแห่งคณะรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุว่า นักธุรกิจชาวจีนทั่วโลกเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ควบคู่ไปกับเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติด้านต่างๆ ดังนั้น การส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์กับนานาประเทศจึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนตัวเชื่อว่าการประชุมครั้งจะเป็นการเสริมพลังต่อความร่วมมือของนักธุรกิจชาวจีน และจะเป็นประโยชน์ต่อศักยภาพทางธุรกิจ รวมถึงเป็นการยกระดับการค้าขาย เวทีการประชุมครั้งนี้จะทำให้นักธุรกิจชาวจีนได้แสดงความรู้ ความสามารถ และนำมาซึ่งกับพัฒนาร่วมกัน

ขณะที่ นายธนินท์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ สรุปความว่า นักธุรกิจจีนต้องให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการศึกษาและวิทยาการด้านต่างๆ จากสหรัฐอเมริกา รวมถึงทรัพยากร ด้านบุคคลากร เงินทุน เทคโนโลยีและวัตถุดิบจากทั่วโลกเข้ามาในจีน เพราะมีปัจจัยพื้นฐานด้านต่าง ๆ ที่พร้อมจะพลิกโฉมการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในอนาคต

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของโลก ผ่าน EEC โดยให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่โครงการที่ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังมีความสำคัญ และอีคอมเมิร์ชต้องอาศัย “เรียล อีโคโนมี่” ในการผลิตสินค้าที่จับต้องได้ และต้องอาศัยโลจิสติกส์ เพื่อส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงที่ใช้นวัตกรรมในการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสูง และมีมูลค่าสูงขึ้น จึงจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ชและโลจิสติกส์ดำรงอยู่ต่อไป

อนึ่ง การประชุมจะเป็นการประชุมกลุ่มย่อย 4 หัวข้อ ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย 2.โอกาสพัฒนาจาก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและเขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า” 3.แนวคิดและภูมิปัญญาการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจชาวจีน และ 4.การสืบสานและพันธกิจของนักธุรกิจชาวจีนรุ่นใหม่ จะมีผู้บริหารระดับสูงในไทยและนักธุรกิจจีน ขึ้นบรรยายให้ความรู้ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศไทย ,แนวความคิด และภูมิปัญญาการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจชาวจีน และการสืบสานและพันธกิจของนักธุรกิจชาวจีนรุ่นใหม่ เป็นต้น.