กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับ 3 คำร้องที่ร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการสมัครรับเลือกตั้งส.ส. กรณีถือหุ้น บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ทำให้บางคนรู้สึกโล่งอก มีช่องทางเดินไปได้
ยัง…ยังไม่จบ กกต.ยังไม่ได้วินิจฉัยว่า การถือหุ้นไอทีวีของพิธาถูกหรือผิด ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เพียงแต่ผู้ยื่นให้ตรวจสอบ ยื่นหลังจากเลยเวลาตรวจสอบมาแล้วเท่านั้นเอง ง่ายๆคือเลยเวลาแล้ว
แต่ กกต.ได้หยิบเอาประเด็นจาก 3 คำร้องมาสั่งตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนไต่สวน” ลุยสอบเอง ในประเด็นการฝ่าฝืนมาตรา 42 (3) แล ะมาตรา 151 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต่อไป
กกต.ใช้คำว่า “สืบสวนไต่สวน” น่าสนใจกับการตั้งกรรมการชุดนี้แสดงว่า มีอำนาจทั้งสืบสวน และไต่สวนด้วย
ดูเหมือนจะหนักกว่าเดิม ถ้าผิดโทษจะหนักกว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะคดีอาญา ถ้านายพิธารู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะมีลักษณะต้องห้าม แต่ยังฝืนลงสมัครเลือกตั้ง และอนุญาติให้พรรคการเมืองส่งลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
ซึ่งในกรณีนี้ นายสิระ เจนจาคะ อดีตส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เคยเจอมาก่อนแล้ว เมื่อถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ขุดอดีตขึ้นมาร้อง อดีตที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกฐานฉ้อโกง โดยศาลแขวงปทุมวัน สั่งจำคุกนายสิระ ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีแดง หมายเลขที่ 2218/2538 อันเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามของคนเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10)
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในฐานะอดีต ผบ.ตร.นำมติ 7 ต่อ 2 เสียงที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ในคดีดังกล่าว ไปร้องต่อ กกต.เป็นดาบสอง มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เช่นเดียวกับกรณีนายพิธาและกกต.ก็มีมติแจ้งความเอาผิด
ทั้งนี้ ตามมาตรา 151 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กกต. ตั้งกรรมการสอบสืบสวนไต่สวนมีเนื้อหาว่า
“ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี”
“ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย”
กล่าวสำหรับนายพิธา หากถูกชี้ตามมาตรานี้ นายพิธาจะมีโทษจำคุกสูงสุด 1-10 ปี ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และ ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องคืน “เงินเดือน-ค่าตอบแทนอื่นๆ” จากการเป็นส.ส.ทุกบาท ทุกสตางค์อีกด้วย
วิบากกรรมของพิธา บนเส้นทางก้าวเดินสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มันยากยิ่งกับสิ่งที่ก่อไว้แล้ว ไม่ได้แก้ให้จบสิ้นก่อนกระโดดเข้าสู่เวทีการเมือง รู้ทั้งรู้ว่า เมื่อยืนอยู่บนเวทีการเมือง ประวัติทุกเม็ดจะต้องถูกขุดคุ้ย ไส้ทุกขดจะถูกลากออกมากองให้สังคมได้ตรวจสอบ
ที่เห็นๆว่าถูกขุดคุ้ย ตั้งแต่ปัญหาในครอบครัวแตกแยกเลิกรากับภรรยา ถือหุ้นสื่อ ค้ำประกันเงินกู้ และ ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
ลำบากแท้นะ “พิธา” เสียงมหาชน 14 ล้านเสียงอาจจะช่วยไม่ได้ เมื่อทำผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายต้องบังคับใช้โดยเสมอภาค เท่าเทียมกัน
#นายหัวไทร