“ชลน่าน” เผยเสียงตอบรับ 8 พรรคร่วมดี! ต้องตั้งรัฐบาล เลือกนายกฯให้ได้ ย้ำไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับ “พิธา” กรณีถือหุ้นสื่อ!ยังคงทำงานร่วมกันเหมือนเดิม “สุทิน” เผยเพื่อไทยยังไม่หารือเสนอชื่อประธานสภาฯ ท่ามกลางกระแส 3 ชื่อ “ชลน่าน-จาตุรนต์-สุชาติ” ติดโผชิงเก้าอี้
วันที่ 31 พ.ค.2566 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคพท. กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะทำงาน 7 คณะ ของ พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคว่า หลังจากที่พูดคุยกันแล้ว บรรยากาศน่าจะดีขึ้นในมุมสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ว่าเรามุ่งมั่นทำงานร่วมกัน เสียงตอบรับเป็นไปในทางที่ดี ทั้งนี้จากที่เรากำหนดแนวทางการทำงาน สิ่งที่ชัดเจนที่สุด คือเราจะใช้วาระงาน เป็นตัวกำหนดการทำงานหลังจากที่เราทำเอ็มโอยูร่วมกันแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 23 ข้อ จะแปรเปลี่ยนเป็นวาระงาน โดยคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลที่มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธาน จะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 6 มิ.ย.ที่ พรรค พท. ส่วนคณะทำงานภารกิจ 7 คณะ เราคาดหวังจัดทำเป็นตัวนโยบายของรัฐบาลที่คณะทำงานฯ จะรวบรวมเพื่อเสนอคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมต่อไป และส่งเข้าที่ประชุมหัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรค เพื่อเป็นกำหนดเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายร่วมกัน
เมื่อได้ตัวร่างนโยบายและภารกิจหลัก ที่เป็นชุดข้อเสนอเชิงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลใหม่ ถ้ามีข้อเสนอเชิงสังคม ที่เป็นปัญหาเร่งด่วน เรามุ่งหวังว่าวิสัยทัศน์ ที่เราเสนอเปรียบเทียบ จะเป็นเครื่องมือที่เราส่งต่อให้รัฐบาลรักษาการเข้าไปดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่าน การส่งต่อภารกิจจากรัฐบาลรักษาการ ก็จะเป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งเราตระหนักตลอดว่ายังไม่มีหน้าที่และอำนาจในการเป็นรัฐบาล เพราะอยู่ในขั้นตอนเตรียมจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเราจะมีอำนาจจริงเราต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ตั้งสภาฯ ให้ได้ เลือกนายกฯ ให้ได้ และตั้งคณะรัฐมนตรีให้ได้ และสุดท้ายคือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจึงจะทำหน้าที่ได้
“ในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. ที่พรรค พท. จะเป็นการประชุมของคณะกรรมการประสานงานฯ ส่วนวันที่ 7 มิ.ย. จะเป็นการประชุมในส่วนของหัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรคที่พรรค พท.เช่นเดียวกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว
เมื่อถามว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ เมื่อไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่าทางคณะเจรจาเริ่มงานกันตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.โดยได้เริ่มพูดคุยกันไปส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับในส่วนของฝ่ายบริหาร เราเห็นว่าตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่สังคมคาดหวังว่าจะต้องไม่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรค พท. โดยตำแหน่งดังกล่าวจะไม่ใช่โควต้า พรรคใดพรรคหนึ่ง ให้คณะเจรจาพูดคุยเสมือนเป็นพรรคเดียวกัน
เมื่อถามว่าภายในพรรคมีการพูดคุยกันแล้วหรือไม่หลังจากมีชื่อ นพ.ชลน่าน นาย จาจุรนต์ ฉายแสง และ นายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำพรรคพท.จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกันในเรื่องตำแหน่งและตัวบุคคล น่าจะเป็นเพียงการเสนอความคิดเห็น รวมถึงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้พูดคุยกัน เราจะใช้วาระงานเป็นตัวกำหนด หลังจากที่คณะทำงานและคณะกรรมการประสานงานฯ พูดคุยกันได้ส่วนหนึ่ง ทางที่ประชุมของหัวหน้าพรรค ที่กำหนดพูดคุยทุกสองสัปดาห์ จะมาหารือร่วมกันอีกครั้ง หลังจากนั้นจะได้พูดคุยเรื่องการแบ่งงานรวมถึงตำแหน่งต่างๆ
เมื่อถามถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ระบุว่าตำแหน่งนี้ จะเป็นใครก็ได้ ขอเพียงวางตัวเป็นกลาง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นั่นคือหน้าที่ และ อำนาจของประธานสภาฯ อยู่แล้ว รัฐธรรมนูญบังคับว่าถ้าคุณเป็นประธานสภาฯ ต้องไม่มีตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมือง ต้องเป็นกลางนพ.ชลน่านยังกล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า หากนายพิธาขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ในประเด็นถือหุ้นไอทีวี แล ะถูกร้องเรื่องการรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกล อาจจะต้องเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศในเขตที่พรรคก้าวไกลชนะ ว่า ประเด็นนี้ มีการพูดคุยกันอยู่ เพราะคุณสมบัติของหัวหน้าพรรค ที่ไปลงนามรับรองผู้สมัครของพรรค มีคุณสมบัติครบหรือไม่อย่างไร ต้องไปดูประเด็นนั้น ยกตัวอย่างกรณีของตน ผู้สมัครพรรค พท. จ.นนทบุรี ถูกชี้ว่าคุณสมบัติไม่ครบ เพราะถูกจำกัดสิทธิ จากการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หลายฝ่ายมองว่า หัวหน้าพรรค ต้องรับผิดชอบร่วมด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว การถูกจำกัดสิทธิ์ ไม่ใช่ลักษณะต้องห้าม ฉะนั้นไม่จำเป็นว่าหัวหน้าพรรค ที่เซ็นไปลงสมัครรับเลือกตั้งต้องรับผิดชอบ และหัวหน้าพรรคจะรับผิดชอบเฉพาะกรณีที่ไปลงนาม ตัวผู้สมัครที่รู้อยู่ว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติ และมีคุณสมบัติต้องห้าม เมื่อเขามีคุณสมบัติต้องห้าม และยังลงนามให้เขาไปลงรับสมัคร ต้องรับผิดชอบทางอาญา
เมื่อถามว่า หากเกิดอะไรขึ้นกับนายพิธา ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ในส่วนของพรรค พท. ยังคงให้โอกาสก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบลหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนยืนยันว่าเรามัดกันแน่น ยังคงทำงานร่วมกันเหมือนเดิม ไม่ว่าจะมีอะไรขึ้น ก็ยังคงทำงานกันต่อไป ส่วนรายละเอียด ก็ดูเป็นเรื่องๆ ไปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร มีข้อกฎหมายรองรับอะไรหรือไม่อย่างไร.
ทางด้าน นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการในสภาฯว่า จะเป็นไปตามกรอบ 60 วัน ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเร่งประกาศรับรอง ส.ส. ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ ในพรรค พท. ยังไม่ได้พูดคุยกัน และต้องรอไปพูดคุยกับพรรคก้าวไกลเพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อน ในฐานะที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงโควต้าตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีด้วย