คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก นำคณะผู้บริหาร เข้าคารวะ เอกอัครราชทูตซาอุเดียอาระเบีย ประจำประเทศไทย พร้อมหารือวิชาการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่นักศึกษาไทยและนักศึกษากลุ่มมุวัลลัตให้ความสนใจ และเลือกเรียนมากที่สุด
คณะผู้บริหารวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก นำโดย ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีฯ ดร.บัณฑิต อารอมัน ผู้ช่วยคณบดี ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ดร.สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม และอาจารย์อำพล ตระการฤกษ์ หัวหน้าศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ เข้าคารวะนายอับดุรเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566 พร้อมหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับซาอุดีอาระเบีย
ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ได้นำเรียน นายอับดุรเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียว่า มหาวิทยาลัยเกริก โดย ศ.ดร.นายแพทย์ กระแสชนะวงศ์ อธิการบดี มอบหมายให้วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ร่วมแสดงความยินดีกับท่านอับดุรเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โอกาสการค้า การลงทุน และการสร้างความร่วมมือในมิติด้านการศึกษา โดยมหาวิทยลัยเกริกถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกของประเทศไทยที่ได้เดินทางไปเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าพบ ฯพณฯ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และเยี่ยมเยือนหารือร่วมกับมหาวิทยาลัย King Abdulaziz มหาวิทยาลัยอิสลาม Madinah และมหาวิทยาลัย Umm Al-Qura ผ่านการอำนวยความสะดวกของสถานกงสุลไทย เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย
ในโอกาสนี้ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ได้เรียนท่านเอกอัครราชทูตว่า วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มีสาขาวิชาการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่นักศึกษาไทยและนักศึกษากลุ่มมุวัลลัตให้ความสนใจ และเลือกเรียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งวิทยาลัยฯ ส่งนักศึกษาร่วมฝึกปฏิบัติงานกับบริษัท มะชาริก เพื่อกิจการฮัจย์ ประจำปี 2566 เพื่อให้การดูแลผู้ประกอบพิธีฮัจย์จากหลากหลายประเทศที่กำลังจะเดินทางไปราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ได้แนะนำท่านเอกอัครราชทูตว่า ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ มีบทบาทสำคัญในการเป็นเลขานุการผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์ ซึ่งมีภารกิจในการกำกับดูแล อำนวยความสะดวกให้กับกิจการฮัจย์ไทยด้วย ทั้งนี้การศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการฮัจย์จึงมีความสำคัญในประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพด้านการบริการและอำนวยความสะดวกผู้ประกอบพิธีฮัจย์และอุมเราะห์ทุกปี
ในขณะที่ ดร.สมีธ อีซอ ได้นำเสนอภาควิชาการเงินอิสลามว่า ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียมีหน่วยงานหลายแห่งที่เป็นต้นแบบด้านการเงินอิสลาม มีธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (International Islamic Bank) รวมถึงธนาคารอัลรอญะฮิ (Al Rajhi) ที่มีระบบการเงินอิสลามและการบริการเกี่ยวกับการเงินในหลากหลายรูปแบบ เป็นหนึ่งในธนาคารที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และได้รับความชื่นชมจากกลุ่มประเทศมุสลิมทั่วโลกในด้านการบริการที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าใช้งานได้สะดวก มีบุคลากรที่ทันต่อเทคโนโลยี และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ปฏิบัติตามหลักชารีอะห์ ซึ่งธนาคารอัลรอญะฮิ (Al Rajhi) มีอยู่ 515 สาขา ตั้งอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นโอกาสสำคัญที่จะให้กลุ่มนักศึกษาที่เลือกเรียนด้านการเงินอิสลามเข้าไปศึกษา เรียนรู้ และฝึกงานในอนาคต
นอกจากนี้ ดร.บัณฑิต อารอมัน ผู้ช่วยคณบดี ได้นำเสนอ Proceeding ในงานการประชุมระดับชาติและระดับนานาชาติครั้งที่ 18 ภายใต้ธีม “กระบวนทัศน์ใหม่ การวิจัย ไทย-จีน-ซาอุดีอาระเบีย” โดยได้เน้นย้ำว่าความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา และพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิชาการที่ส่งผลต่องานวิจัย และเครือข่ายนักวิชาการระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียมากยิ่งขึ้น พร้อมเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ กับหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกันทั้งในบริบทของการบริหารจัดการฮัจย์และอุมเราะห์ การเงินอิสลาม รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาล และด้านอื่น ๆ ด้วย
หัวหน้าศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ อาจารย์อำพล ตระการฤกษ์ ได้กล่าวเสริมเติมว่า วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพได้จัดตั้งศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ โดยมีพันธกิจสำคัญในการเพิ่มทักษะด้านภาษาให้กับกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และการส่งสริมการเรียนภาษาอาหรับให้กับกลุ่มนักศึกษา ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้เชิญหัวหน้าศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ ไปฝึกอบรมทักษะทางภาษาทั้งในระบบออนไลน์ และออนไซต์ เช่น โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ เป็นต้น
ฯพณฯ อับดุรเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีกับคณะผู้บริหารที่ส่งเสริมการศึกษาที่ทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ โดยสถานทูตซาอุดีอาระเบียพร้อมให้ความร่วมมือในด้านการศึกษาทุกมิติ และเล็งเห็นถึงโอกาสการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกริกกับมหาวิทยาลัยในซาอุดีอาระเบีย เพื่อต่อยอดการศึกษาและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในมิติทางด้านการบริหารธุรกิจ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตยังได้กล่าวถึงโอกาสพัฒนาศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพร่วมกับ King Salman International Complex for the Arabic Language เพื่อเสริมสร้างบทบาทของภาษาอาหรับในไทยและในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนเข้าใจคุณค่าของภาษาอาหรับที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอาหรับและอิสลามไปพร้อมกัน