“องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น” เปิดข้อมูล “10 ปี คดีโกงของนักการเมืองไทย”

เพจ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น รายงาน หัวข้อ “10ปี คดีโกงของนักการเมืองไทย” ตั้งแต่ปี 2555-2566 เบ็ดเสร็จ 61 คดี นักการเมือง 68 คน พบ “จำนำข้าว-คลองด่าน” เสียหายมากที่สุด

วันที่ 18 เม.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้เผยแพร่รายงาน “10 ปี คดีโกงของนักการเมืองไทย” เป็นการรวบรวมข้อมูลจากสื่อมวลชน เฉพาะคดีที่มีการชี้มูลความผิดโดย ป.ป.ช. การตัดสินคดีโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ถึง ปัจจุบัน สามารถรวบรวมได้ทั้งหมด 61 คดี นักการเมือง 68 คน ไม่นับรวมคดีตัดสิทธิ์ทางการเมืองเพราะละเมิดจริยธรรมร้ายแรงอีก 2 คดี

คดีโกงเหล่านี้เป็นหลักฐานความเลวร้ายของนักการเมืองทั้งจากพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีคดีที่ตรวจพบมากเรียงตามลำดับ ดังนี้

1) โกงเลือกตั้ง 25 คดี

2) ยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ 9 คดี

3) โกงจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล 8 คดี

4) เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง 8 คดี

5) ประพฤติมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 3 คดี

6) แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ 2 คดี

7) ร่ำรวยผิดปกติ 2 คดี

8. บุกรุกที่ดินหลวง 2 คดี

9) เรียกรับสินบน 1 คดี

10) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 1 คดีเฉพาะ 8 คดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล มีมูลค่าความเสียหายรวมกัน ราว 5.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อประชาชนในเรื่องที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยในชีวิต สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ สุขอนามัยของเด็ก ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ เป็นต้น

ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ พบประเด็นน่าสนใจ เช่น

1. 2 คดีที่ถูกระบุว่าสร้างความเสียหายให้ประเทศมูลค่าสุงสุดคือ คดีโครงการจำนำข้าว (มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท) และ คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน (มูลค่า 2.49 หมื่นล้านบาท)

2. “ความผิด” มีโอกาสเกิดขึ้นในทุกกระทรวงและหน่วยงานรัฐพอๆ กัน โดยไม่จำกัดว่า “คนผิด” ต้องเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจบริหารเท่านั้น แต่ ส.ส. กรรมาธิการ และเครือข่าย ก็สามารถเชื่อมโยงกันทำร้ายบ้านเมืองได้

3. การตีมูลค่าความเสียหายจากคอร์รัปชันทำได้ยาก เพราะไม่สามารถคำนวนความเสียหายต่อเนื่องที่กระทบต่อหน่วยงานและประชาชน การที่รัฐซื้อของแพงได้ของไม่ดีหรือล่าช้า ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสรรคหรือด้อยคุณภาพในการให้บริการประชาชนด้วยเช่นกัน รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้าหรือความขัดแย้งในสังคมตามมา

4. พฤติกรรมประหลาดของนักการเมืองเมื่อเกิดคดีความหรือส่อว่าจะมีคดี เช่น จดทะเบียนหย่าจากคู่สมรส, เปลี่ยนชื่อ – นามสกุล เป็นต้น

5. โดยทั่วไปคดีคอร์รัปชันขนาดใหญ่มักมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่กลับพบว่าคดีจำนวนมากที่เกิดในรอบสิบปีนี้มีแต่ข้าราชการที่โดนดำเนินคดี เช่น คดีถุงมือยาง (ความเสียหาย 2,000 ล้านบาท) คดีสร้างโรงพัก (มูลค่า 5,848 ล้านบาท) และแฟลตตำรวจทั่วประเทศ (มูลค่า 3,700 ล้านบาท) เว้นแต่คดีนั้นมีหลักฐานแน่นหนา เช่น คดีสนามฟุตซอล (มูลค่า 4,450 ล้านบาท) และคดีรุกป่า

6. ปี 2564 ไม่ปรากฏว่ามีคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนักการเมือง

7. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า

7.1 มีการดำเนินคดีข้อหาร่ำรวยผิดปรกติน้อยมาก ทั้งที่พบว่า นักการเมืองแจ้งบัญชีทรัพย์สินให้ร่ำรวยมากขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปรกติจำนวนมาก

7.2 นักการเมืองหลายคนที่มีคดีติดตัว ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ด้วย ทั้งที่รู้กันดีว่า ผู้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีคอร์รัปชัน จะหมดสิทธิ์การเป็น ส.ส. แล้วเลือกตั้งใหม่ทันที

7.3 นักการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ก็มีโอกาสคอร์รัปชันได้พอกัน

7.4 คดีของอดีตนายกรัฐมนตรี แม้เสียชีวิตไปแล้ว ทายาทยังต้องชดค่าเสียหายให้แก่รัฐ

7.5 คดีที่มีนักการเมืองเกี่ยวข้องมักเป็นคดีใหญ่สร้างความเสียหายมาก ทำกันเป็นเครือข่ายและมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย เว้นแต่คดีโกงเลือกตั้งหรือแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ

7.6 ในแต่ละปีเกิดเรื่องอื้อฉาวและเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และยื่นฟ้องต่อศาลจำนวนมาก แต่มีเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นที่ถูกชี้มูลและศาลตัดสินว่าผิดจริง

7.7 คดีอื้อฉาวจำนวนมากใช้เวลาดำเนินคดีมากกว่า 10 ปี นานถึง 30 ปีก็มี บางคดีเอาผิดใครไม่ได้เพราะหมดอายุความ บางคดีผ่านไป 20 ปีเพิ่งแจ้งข้อกล่าวหาก็มี

บทส่งท้าย

คนบ่อนทำลายบ้านเมืองของเราให้ตกต่ำ คงไม่ใช่ต่างชาติที่ไหน แต่เป็นนักการเมืองจำนวนมากที่ทรยศประชาชน จ้องจะคดโกงอยู่ร่ำไป

การโกงซับโกงซ้อนโกงซ่อนเงื่อน การพลิกแพลงกฎหมายและใช้โวหารจอมปลอมทำให้ยากสำหรับประชาชนที่จะรู้เท่าทันไปทุกอย่าง

ข้อมูลคดีโกงของนักการเมืองชุดนี้คือ “บทเรียนความเสียหายของแผ่นดินที่เกิดจากคอร์รัปชันโดยนักการเมือง” ที่เราคนไทยต้องเรียนรู้ร่วมกันเพื่อหาทางป้องกันมิให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในอนาคต