ก.การต่างประเทศ จับมือมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามฯ จัดเลี้ยงละศีลคณะทูตมุสลิม ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ ระบุ ให้การสนับสนุนมุสลิมในกิจกรรมระหว่างประเทศมาตลอด พร้อมเน้นย้ำ รอมฎอน เป็นการสร้างสมความเมตตา และยอมรับความแตกต่าง
วันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย จัดงานเลี้ยงละศีลอด คณะทูตมุสลิมประจำประเทศไทย โดยมีบรรดาเอกอัครราชทูต ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตมุสลิมประจำประเทศไทย เข้าร่วมเกือบ 30 ประเทศ มีมีตัวแทนองค์กรมุสลิมเข้าร่วมรวมประมาณ 200 คน มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธี
นายดอน กล่าวว่า ในโอกาสเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานเลี้ยงละศีลอด เดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ. 1444 ตนมีความรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานเลี้ยงละศีลอดเดือนรอมฎอนประจำปีอิจเราะห์ศักราช 1444 ในวันนี้เดือนรอมฏอน เป็นเดือนที่มีความศักดิ์สิทธิ์อันประเสริฐสุดของพี่น้องมุสลิมทั้งหลาย ซึ่งเป็นเดือนที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานให้ได้ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและการประพฤตินตามหลักศาสนบัญญัติ เป็นช่วงเวลาแห่งการ สร้างสมความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจ การคิดพิจารณา ความสมานฉันท์ในเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับความเศร้าโศก ความกลัว ความทุกข์ทรมาน การพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่อาศัย อันเนื่องมาจากจากสงครามและความขัดแย้ง
‘เดือนรอมฎอนเป็นช่วงเวลาที่เตือนใจเราทุกคนว่าคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวไว้ว่าพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สร้างประเทศและเผ่าพันธุ์หลายหลากขึ้นเพื่อสอนให้เรารู้จักที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกันและสอนให้เรารู้จักยอมรับและเคารพความแตกต่างอันหลายหลากในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับประชาชน ระดับสังคม หรือประเทศ และการยอมรับและเคารพนั้นเป็นโครงสร้างที่ดำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และกฎหมาย’
ประเทศไทยมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมไทยอีกด้วย ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศให้การสนับสนุนการทำงานขององค์กรอิสลามในประเทศไทย โดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย องค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐต่างๆ เช่น มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้แสวงบุญชาวไทยมุสลิมในการเดินทางไปยังนครเมกกะห์ เพื่อประกอบพิธีฮัจย์และอุมเราะห์ของชาวไทยมุสลิม ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง เช่นการสนับสนุนการจัดงานเมาลิดกลาง การสนับสนุนการเข้าร่วมการแข่งขันของนักอ่านอัลกุรอานหรือกอรี การดำเนินการเหล่านี้ของกระทรวงๆเป็นสิ่งที่สะท้อนความเชื่อและศรัทธาของสังคมไทยว่าศาสนาอิสลามเป็นคำสอนให้มนุษย์มีความเคารพและมีการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นอย่างถูกต้องและสมควรต่อกันเสมอไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือศาสนาใด และอิสลามเป็นศาสนาที่ไม่ยอมรับให้มีความอยุติธรรม หรือการกดขี่ข่มเหงและล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นไม่ว่าจะมีความเชื่อหรือมีเผ่าพันธุ์เชื้อชาติที่แตกต่าง
ตนขอชื่นชมพี่น้องชาวมุสลิมที่ปฏิบัติศาสนกิจถือศีลอดในเดือนรอมฎอน นับว่าเป็นการทดสอบศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ที่ได้อุทิศตนและดำรงตนให้อยู่ในหลักศาสนา ได้ฝึกความอดทนต่ออุปสรรค และความยากลำบาก ความอดกลั้น และการทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เข้มแข็ง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีไมตรีต่อกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม ส่งผลให้คนมีคุณธรรม สังคมมีคุณภาพ และประเทศชาติมีความสงบสุขเนื่องในโอกาสอันเป็นมงคลในเดือนรอมฏอนนี้ ผมขอให้เราทุกคนใช้โอกาสที่จะเรียนรู้และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และมีแรงบันดาลใจที่จะร่วมมือกันสร้างโลกที่เคารพศักดิ์ศรีและความปลอดภัยของทุกๆคน เพื่อเราจะสามารถมีชีวิตอย่างมีความสุขและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และขอพรอันประเสริฐจากพระผู้อภิบาล โปรดอำนวยพรให้พี่น้องชาวไทยมุสลิม จงประสบแต่ความสุขสวัสดี มีความเจริญรุ่งเรือง สัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่พึงปรารถนาทุกประการ เพื่อร่วมเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสันติสุขแก่ประเทศชาติ
สืบไป รอมฏอนการีม
จากนั้นนายอรุณ บุญชม ประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวในฐานะตัวแทนจุฬาราชมนตรี ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ ที่สนับสนุนงานเลี้ยงละศีลอด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมไทยและต่างประเทศ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของเดือนรอมฎอนของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก