“ฉัตรชัย ศิริไล” เข้ารับตำแหน่ง ผจก.ธกส. พร้อมโชว์วิสัทัศน์ นำพา องค์กรก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลง สานเจตนารมย์เป็น “ธนาคารชนบท” เพื่อนำพาเกษตรกรไทย พัฒนาด้วยเทคโนโลยี ยกระดับชีวิต สู่สังคมที่ภาคภูมิ
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งเป็นวันแรกว่า พร้อมนำพา ธ.ก.ส. ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ พร้อมสานต่อ เจตนารมณ์การเป็นธนาคารพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน ที่จะนำพาเกษตรกรไทย เร่งพัฒนาด้วยเทคโนโลยี และ องค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ผ่านกลยุทธ์ที่มีการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ พร้อมเติมองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาเครือข่ายต่อยอดการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย สู่สังคมที่ภาคภูมิ
นายฉัตรชัย กล่าวว่า เป้าหมายว่าจะขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสถาบันเกษตรกร เข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินอย่างครบวงจรด้วยต้นทุนที่ต่ำและรวดเร็ว โดยใช้เทคโนโลยี วิทยาการสมัยใหม่ นวัตกรรม และประโยชน์จากฐานข้อมูล (Database) และวางแผนสร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงความต้องการ รวมถึงวางแผนบริหารจัดการการผลิต การเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และคาดการณ์ความต้องการสินค้าการเกษตร เพื่อให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนสามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่างๆ ในตลาด ลดการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ เตรียมความพร้อมให้เกษตรกรเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ ด้วยแนวทางสร้างกองทุนเงินเกษียณอายุ (Pension Fund)
นอกจากนี้ยังมีแนวทางนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการลูกค้าที่มีความสะดวก รวดเร็ว ทั้งในมิติของ Mobile Application และ Self Service Machine พร้อมส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีและการทำการเกษตรแบบใหม่ โดยอาศัยทักษะของกลุ่มคนที่ความเชี่ยวชาญในด้านการผลิต การออกแบบ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การทำการตลาดแบบ Digital และการกระจายสินค้าเกษตร ผนวกกับการทำธุรกิจแบบ Mutualism สำหรับเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของแหล่งปัจจัยการผลิตหรือที่ดินทำการเกษตรแต่ขาดทักษะ ร่วมกับกลุ่มคนที่มีทักษะแต่ขาดทรัพยากรการผลิต ให้ได้มีโอกาสส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในธุรกิจรูปแบบการแบ่งปันผลกำไร (Profit Sharing) และใช้องค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาเครือข่ายในการพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร ในรูปแบบของ 1U (University) 1C (Community) พัฒนาและต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน ทั้งในเรื่องของนวัตกรรม การออกแบบ และการทำธุรกิจการเกษตร