การถือศีลอดอย่างถูกวิธีทำให้อายุขัยยืนยาวผ่านกลไกการกินตัวเองของเซลล์
ใน ค.ศ.2016 คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลของสวีเดนประกาศให้ ดร.โยชิโนริ โอสุมิ (Yoshinori Osumi) นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์จากการค้นพบกลไกการกินตัวเองของเซลล์ (Autophagy) กลไกนี้เพื่อกำจัดซากเซลล์เก่า เศษเซลล์แก่ที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ รวมถึงสารสกปรกที่เกิดจากกลไกต่างๆในเซลล์ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเซลล์แก่ เศษซากออร์กาเนลในเซลล์ ซากจากลิ่มเลือด ซากจากสารภูมิคุ้มกัน และซากส่วนอื่นๆที่สะสมในเซลล์แก่ สารสกปรกเหล่านี้ก่อให้เกิดการอักเสบ (Inflammation) รวมทั้งก่อโรคต่าง ๆ กลไกการกินตัวเองนอกจากทำลายสิ่งสกปรกยังนำเอาสิ่งสกปรกเหล่านี้ไปรีไซเกิล สร้างสารใหม่
กลไกการกินตัวเองของเซลล์ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ไปจนถึงมะเร็ง การเร่งเซลล์ให้เข้าสู่กลไกการกินตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากทำให้เซลล์สะอาด หากปล่อยให้เซลล์สกปรกนานเข้าผลที่ตามมาคือเซลล์ใกล้ตายทำให้เซลล์แบ่งตัวสร้างเซลล์ใหม่ ผลที่ตามมาคือส่วนปลายสายดีเอ็นเอที่เรียกว่าเทโลเมียร์ (Telomere) ลดความยาวลง ส่งผลให้อายุขัยสั้นลง หากกลไกการกินตนเองทำงานบ่อย ย่อมมีผลให้เซลล์แก่อายุยืนยาวขึ้น แบ่งตัวสร้างเซลล์ใหม่ช้าลง อายุขัยย่อมยืนยาวขึ้น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงพยายามค้นหาวิธีการที่จะทำให้กลไกการกินตัวเองของเซลล์ทำงาน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าวิธีการที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการอดอาหาร เช่น การถือศีลอดอย่างถูกวิธีของมุสลิมในเดือนรอมฎอน คำถามมีว่าการถือศีลอดอย่างถูกวิธีของมุสลิมนั้นเป็นอย่างไร
งานวิจัยของนายแพทย์แม็กซิโม เมสลอส (Maximo Maislos) ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition ค.ศ.1993 ให้ข้อสรุปว่าการถือศีลอดเดือนรอมฎอนของมุสลิมอาหรับเบดูอินที่อาศัยในทะเลทรายเนเกฟ (Negev) ยึดถือแนวทางการถือศีลอดแบบท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่างเคร่งครัด ปฏิบัติต่อเนื่องมานานนับพันปี โดยตลอดเดือนรอมฎอน บริโภคอาหารสองมื้อคืออาหารสะฮูร (Suhur) ก่อนเช้า และอาหารอิฟตาร (Iftar) เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ปริมาณการบริโภคไม่มากเพียงทำให้หายหิว ช่วงละศีลอดบริโภคผลอินทผาลัมแล้วจึงละหมาดก่อนกลับมาบริโภคมื้อเย็น โดยงดการบริโภคมื้อดึก เคร่งครัดต่อการละหมาดยามดึก ฝึกจิต อ่านกุรอาน พำนักค้างคืนในมัสยิด สำคัญคือทั้งวันลดการบริโภคอาหารลงเมื่อเทียบกับเดือนอื่น ทั้งยังทำงานกลางวันเช่นปกติ ผลคือสุขภาพดีขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงลดลง หากใครทำการศึกษาวิจัยต่อคงพบว่ากลไกการกินตัวเองของเซลล์เพื่อทำความสะอาดร่างกายภายในเพิ่มขึ้น อายุขัยยืนยาวขึ้น ทำนองนั้น
บทความโดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน,