โฆษกศาลแจง ปมฉาว เพิกถอนหมายจับ “อุปกิต ปาจรียางกูร ” สมาชิก ส.ว.

โฆษกศาลยุติธรรม แจงขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนหลังมีหนังสือแจงเพิกถอนหมายจับ “อุปกิต ปาจรียางกูร” สมาชิก วุฒิสภา หลังจาก รังสิมันต์ โรม จี้ ถาม ก.ต.

วันที่ 11 มี.ค. 2566 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณี หนังสือชี้แจงของตำรวจ สน.พญาไท เรื่องการร้องขอออกหมายจับนายอุปกิต ปาจรียางกูร วุฒิสมาชิก ที่ระบุว่ามีหลักฐานเกี่ยวข้องขบวนการค้ายาเสพติด และการเพิกถอนหมายจับ ที่ถูกเผยแพร่ในสื่อโซเชียล ว่าตนเองเห็นหนังสือที่ส่งต่อผ่านสื่อโซเชียลมีเดียแล้ว และเข้าใจว่ามีการรายงานให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ (ก.ต.) ทราบแล้ว แต่ยังไม่มีมติ หรือรายงานอะไรออกมาเป็นพิเศษ

ส่วนของหนังสือชี้แจงที่ปรากฏมีการพาดพิงชื่อบุคคล เป็นผู้บริหารของศาลอาญา นั้นนายสรวิศกล่าวว่า เข้าใจว่า ก.ต.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว มีการรายงานข้อเท็จจริงไปบ้างแล้ว และมีการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงก่อนที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะมายื่นหนังสือ ต่อ ก.ต. ให้ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวแล้วเช่นกัน แต่ส่วนตัวยังไม่ได้รับรายงานในเรื่องมติอะไรออกมาว่าจะเป็นยังไงต่อ ส่วนที่ประชุม ก.ต.ในครั้งหน้า ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นวาระอะไรเพิ่มเติม

นายสรวิศ ยังกล่าวถึงขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เข้ามาว่า ตามปกติจะมีการรายงานข้อเท็จจริงเป็นลำดับชั้น ตั้งแต่ต้นเรื่อง คือ ศาลอาญา ส่งเรื่องเข้ามาที่ สำนักงานศาลยุติธรรม จากนั้น สำนัก ก.ต. ก็จะดูข้อเท็จจริงที่ได้รับมา เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ว่าลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าเกิดเห็นว่า เป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจ การออกคำสั่งตามปกติ ที่สามารถทำได้ ก็อาจจะยุติเรื่องไป แต่หากเข้าข่ายของอาจจะมีมูลเรื่องของผิดวินัย ก็อาจจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง แล้วเสนอต่อประธานศาลฎีกาว่าควรจะยุติเรื่อง หรือ ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้เรื่องร้องเรียนต่างๆ เหล่านี้ จะยังไม่ต้องเข้าที่ประชุม ก.ต. โดยตรง เพราะปกติ ที่ประชุม ก.ต. จะเป็นชั้นสุดท้าย เพราะหากมีการสอบทางวินัยแล้วมีความเห็นว่าควรจะลงโทษ ถึงจะเข้าที่ประชุม ก.ต.แต่อาจจะมีบางกรณีหรือ บางเรื่อง อาจจะมี ก.ต.บางท่านหยิบยกขึ้นมาสอบถาม ข้อมูลจากที่ประชุม ก.ต.ก็เป็นไปได้ แต่ปกติเรื่องลักษณะนี้ ยังไม่ใช่กระบวนการที่จะ เสนอ เข้า ก.ต.อย่างเป็นทางการ