จริงอยู่ว่าคนต่างชาติรู้จักประเทศไทยในฐานะของการเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งก็หนีไม่พ้น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ หรือไม่ก็พัทยา แต่น่าแปลกที่ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ Marketeer ได้มีโอกาสพูดคุยนี้ กลับเลือก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว
แม้จะรู้ว่ามีสถานการณ์ความรุนแรงที่มากมายขนาดไหนก็ตาม
หลายคนอาจจะสงสัยว่าชายชาวต่างชาติที่เราว่าคนนี้เป็นใคร เลยต้องขอท้าวความเล่าให้ฟังก่อนว่า จุดเริ่มต้นของการได้มีโอกาสพูดคุยกันนี้เกิดจากรุ่นพี่ Senior ท่านหนึ่งที่ Marketeer ได้เดินไปซื้อกาแฟที่ร้านติดอยู่กับออฟฟิศของเรา
แล้วก็ไปเจอกับหนังสือที่มีชื่อว่า The house of the Raja หรือแปลออกมาเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘เรือนราชา’ ด้วยความที่หนังสือเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงดึงดูดให้รุ่นพี่ Senior ของเราท่านนี้ (ซึ่งก็เป็นคนใต้เหมือนกัน) หยิบมันขึ้นมาเปิดดู และเมื่อสอบถามไปยังลุงเจ้าของร้านกาแฟ จึงได้รู้ว่าเจ้าของหนังสือเรือนราชา มานั่งทำงานที่ร้านกาแฟนี้อยู่บ่อยบ่อย !
เหตุผลที่เลือก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจุดหมายปลายทาง
เพราะไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการท่องเที่ยว เมื่อ Search หาใน Google ก็จะมีข้อมูลขึ้นมาเต็มไปหมด
แต่ชาเวียร์กลับรู้สึกแปลกใจว่า แม้ภาคใต้ของบ้านเราจะเป็นภูมิภาคที่รวมแหล่งท่องเที่ยวเอาไว้มากมาย แล้วทำไมเขากลับค้นหาข้อมูลของยะลา นราธิวาส ปัตตานีไม่เจอ จะพบก็เพียงแต่ข่าวระเบิด ความรุนแรง ทั้ง ๆ ที่ดินแดนเหล่านี้ก็มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่น่าค้นหาอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
และเมื่อจุดมุ่งหมายในการท่องเที่ยวของเขา คือการออกค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ชาเวียร์จึงไม่ลังเลใจ ที่จะนั่งเครื่องบินมายังหาดใหญ่ เพื่อต่อรถมาที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกทีนึง แม้จะมีหลาย ๆ เสียงเตือนเขาด้วยความหวังดีว่า ‘อย่าไปคนเดียวเลย’ ก็ตาม
เมื่อถามว่า พอเห็นข่าวที่ลงตามสื่อต่าง ๆ เยอะ ๆ แบบนี้แล้วเขายังจะกล้าไปอีกหรอ ? สิ่งที่เขาตอบกลับมาก็คือ
“ผมดูข่าวนะ ก็ดูคร่าว ๆ ว่าเป็นยังไง แต่ก็ไม่ได้ลงลึก ไม่ได้ดูละเอียดขนาดนั้น เพราะถ้าดูเยอะไปผมกลัวว่าจะสร้างภาพความน่ากลัวขึ้นมาในหัวตัวเอง แล้วทำให้ไม่กล้าไป ผมอยากรู้จัก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมของผมมากกว่า ไม่ใช่จากพวกข่าวนั่น ก็เหมือนกับการหาแรงบันดาลใจในการถ่ายรูปนั่นแหละ ถ้าผมหา Reference หรือแรงบันดาลใจไปก่อนถ่ายภาพ ผมก็อาจจะไม่ได้เก็บความเรียลของโมเม้นท์นั้น ๆ ก็ได้”
เดินทางข้ามจังหวัด ด้วยจักรยานมือสองราคา 2,500 บาท
ยะลาคือจังหวัดแรกที่ชาเวียร์ตัดสินใจเดินทางไปหลังจากลงเครื่องบินที่หาดใหญ่ เมื่อถึงที่หมายเขาก็ซื้อจักรยานมือสองที่มีราคาเพียงคันละ 2,500 บาทมาเป็นยานพาหนะในการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ และนั่นก็ทำให้เขาได้เคาน์ดาวน์เข้าปี 2010 ที่ยะลาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ เชื่อว่าถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากจะไปเริ่มต้นปีใหม่ที่นั่น
ใคร ๆ ก็บอกว่าพื้นที่ของตัวเองปลอดภัย
อาจจะด้วยเพราะความเป็นฝรั่ง ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก ๆ ในนั้น จึงทำให้ชาวบ้านรู้สึกได้ว่าคน ๆ นี้ไม่น่าใช่พวกก่อการร้ายแต่อย่างใด ชาเวียร์จึงได้รับการต้อนรับขับสู้ที่ดีตามแบบฉบับของคนไทย คอยช่วยเหลือ คอยเป็นห่วง คอยเตือนภัย อยู่ตลอดเวลา แต่อีกหนึ่งเรื่องที่ฟังแล้วทำให้เราอดยิ้มมุมปากไม่ได้ นั่นก็คือ เมื่อไปหมู่บ้านหรืออำเภอไหน ชาวบ้านบริเวณนั้นก็นั้นก็มักจะบอกกับเขาว่า อยู่ที่นี่อะไปลอดภัย ไปข้างนอกน่ะอันตราย
เช่นเดียวกัน ถ้าไปที่อื่นชาวบ้านก็จะบอกว่า อยู่ที่บ้านของพวกเขาน่ะปลอดภัย แต่ถ้าไปข้างนอกนั้นเสี่ยงอันตรายกว่าเดิม ซึ่งจริง ๆ ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในเมื่อมีสถานการณ์ก่อการร้าย ก็คงไม่มีใครอยากจะออกไปนอกพื้นที่ ๆ ตัวเองอยู่แล้ว และเมื่อไม่ได้ออกไปข้างนอก จึงคิดว่าจุดที่ตัวเองอยู่นั้น ปลอดภัยที่สุด
จู่ ๆ ก็เจอวัยรุ่น ขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาเทียบข้างตอนดึก ครั้งหนึ่งชาเวียร์ตัดสินใจไปเที่ยวปัตตานีแบบ One Day Trip คือไปเช้าเย็นกลับด้วยจักรยานมือสองคู่ใจของเขา แน่นอนว่าชาวบ้านในพื้นที่บอกให้เขารีบไปรีบกลับ และก็แน่นอน ว่าเขารีบไป แต่ดันไม่รีบกลับ เพราะต้องการเก็บรายละเอียดระหว่างทางให้ได้มากที่สุด
ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่า 6 โมงที่กรุงเทพ กับ 6 โมงที่ปัตตานีนั้นแตกต่างกันมาก และจากตอนกลางวันที่มีจุดตรวจตลอดทั้งเส้นทางที่ไป แต่ตอนขากลับ ถนนทั้งสายนั้นมืด โล่ง และเต็มไปด้วยความเปลี่ยว ต่างกันราวกับว่าขากลับเหมือนกับเป็นคนละเส้นทาง
โดยระหว่างทางที่ชาเวียร์กำลังปั่นจักรยานกลับยะลาด้วยความเหนื่อยล้าในการเดินทางมาตลอดทั้งวัน ในความมืดที่เงียบงันก็มีเสียงของเครื่องยนต์มอเตอร์ไซต์เขยิบใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ
แน่นอน ความกลัวเกิดขึ้นมาในใจของชาเวียร์ และเมื่อเสียงของเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์เข้ามาเทียบข้างตัวเขา สิ่งที่วัยรุ่นสองคนซึ่งขี่มอเตอร์ไซค์คันดันกล่าวอยู่ได้ทำ ก็คือการเอาขามาดันจักรยานของชาเวียร์ ไม่ใช่เพื่อถีบให้ล้ม! แต่เพื่อทุ่นแรงของจักรยานมือสอง ที่กำลังปั่นขึ้นเนินอย่างยากลำบากอยู่ต่างหาก
อีกครั้งหนึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับมอเตอร์ไซค์และวัยรุ่นอีกเช่นกัน จากท่าทางของชาเวียร์ที่ดูเหน็ดเหนื่อยและอิดโรยเหมือนเดิม วัยรุ่นคนดังกล่าวที่มาพร้อมกับมอเตอร์ไซค์ พยามที่จะสื่อสารกับชาเวียร์ในทำนองที่ว่า You Need Help ? เมื่อชาเวียร์ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลืออะไร สิ่งที่วัยรุ่นคนนั้นทำ ก็คือการยื่นมะม่วงมาให้เขานั่นเอง : ) ซึ่งเขาบอกว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นน้ำใจ ที่ทั้งซาบซึ้งใจ และประหลาดใจไปในเวลาเดียวกัน สุดท้าย ชาเวียร์ก็กลับถึงยะลาตอน 3 ทุ่ม อย่างปลอดภัย แม้เวลาที่เกิดเหตุร้ายบ่อยที่สุดจะเป็นช่วง 1-2 ทุ่มก็ตาม
สิ่งเหล่านี้เองได้สะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางความโหดร้าย สถานการณ์ความรุนแรงและตึงเครียด ยังมีบางแง่บางมุมที่ทำให้เรายิ้มได้อยู่ และไม่ใช่แค่เรื่่องของความมีน้ำใจ แต่ชาเวียร์ก็ยังได้บอกเล่าถึงวิถีชีวิต ศิลปะวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องราวของชายรักชายให้เราได้ฟัง ผ่านทั้งคำพูดและตัวอักษรที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือเรือนราชาเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ
ซึ่งมากมาย เกินกว่าที่บทความนี้จะบันทึกเรื่องราวทั้งหมดเอาไว้ได้ คุณผู้อ่านอาจจะต้องไปติดตามกันต่อในหนังสือเรือนราชา ที่ตามแผงของร้านหนังสือแบบ Niche Niche กันต่อเอง โดยการไปท่องเที่ยว 3 จังหวัดชายแดนในภาคใต้ครั้งแรกของชาเวียร์นี้ เขาใช้เวลาในการอยู่ที่นั่นกว่า 2 เดือน บวกกับการไป ๆ มา ๆ กว่าอีก 20 ครั้ง และไม่มีท่าที่ว่าเขาจะหยุดเดินทางไป 3 จังหวัดนี้เมื่อไหร่ นั่นอาจเป็นเพราะว่าชาเวียร์ได้รู้จัก ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในมุมที่สวยงาม จนทำให้เขามองข้ามความน่ากลัวไปได้อย่างง่ายดาย
cr:http://www.southernreports.com/?p=8635