ปมดราม่า’นายกฯเข้าแล็บ’จุฬาฯ ไม่สวมถุงมือ ผอ.ศูนย์ออกโรงแจง

479

ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์ ชี้แจงดราม่า นายกฯไม่สวมถุงมือในห้องปฏิบัติการ ระบุ ไม่ส่งผลต่อผลปฏิบัติงาน แค่การสาธิตไม่ใช่การทำงานจริง ไม่ต้องสวมเหตุไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงาน

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้แจงดราม่าในโลกโซเชียลกรณี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมงานทำเนียบรัฐบาลเดินทางไปดูงานความก้าวหน้าของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเข้าห้องแล็บไม่สวมถุงมือ

โดยรศ.ดร.วินัย ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ เดินทางมาดูงานความก้าวหน้าของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายกฯ เห็นว่างานวิทยาศาสตร์ฮาลาลมีส่วนส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลจำนวนมากจากประเทศไทยไปยังประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบียในฐานะตลาดใหญ่ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศนี้หลังจากขาดจากกันยาวนาน 32 ปี

หลังรับฟังการบรรยาย นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ ณ ห้องปฏิบัติการชั้น 11 และ 13 ของอาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยมีนักข่าวและผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง เกิดมีประเด็นคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการสวมถุงมือยางในการปฏิบัติงาน ผมในฐานะผู้อำนวยการได้ทำการตรวจสอบอย่างละเอียด ได้รับฟังการชี้แจงจาก ดร.พรพิมล มะหะหมัด หัวหน้างานปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ได้รับคำตอบมีรายละเอียดดังนี้

1. ห้องปฏิบัติการซึ่งแบ่งออกเป็นหลายส่วน ทุกส่วนได้รับการรับรองระบบ ISO17025:2017 และ ISO9001:2008 ความปลอดภัยจึงเป็นประเด็นสำคัญ
2. ในวันดังกล่าวเปิดให้นายกรัฐมนตรีและคณะเข้าเยี่ยมชมได้ถึงภายในเป็นกรณีพิเศษซึ่งปกติไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าภายใน ทั้งนี้โดยวันดังกล่าวไม่มีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ผลการทดลองจริง เป็นเพียงการสาธิตเท่านั้น โดยทุกคนรวมทั้งผู้เยี่ยมชมต้องสวมเสื้อกาวน์ตามระเบียบ


3. เจ้าหน้าที่ทุกคนรวมถึงนักศึกษาฝึกงานสวมเสื้อกาวน์ขาวพร้อมถุงมือยางสีฟ้ากรณีปฏิบัติงานทางเคมี ถุงมือยางสีขาวกรณีปฏิบัติงานด้านชีววิทยาโมเลกุล ผู้เยี่ยมชมมิได้สวมถุงมือเนื่องจากต่างเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานหรือการสาธิต

4. กรณีที่เป็นประเด็นคำถามอาจเกิดขึ้นในกรณีที่นายกรัฐมนตรีสัมผัสกับอุปกรณ์บางชิ้น เช่น ปิเปตต์ เครื่องแก้วแยก/สกัดสาร (separatory funnel) กรณีเช่นนี้ขอชี้แจงว่าบริเวณดังกล่าวเป็นนอกบริเวณงานวิเคราะห์ไม่มีการใช้สารเคมีหรือส่วนของสารทางชีวภาพในพื้นที่นั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรืออันตรายใดๆต่อท่านนายกรัฐมนตรีหรือผู้อื่น


5. การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการได้สร้างขวัญกำลังใจตลอดจนความปลาบปลื้มต่อผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก โดยห้องปฏิบัติการนี้ได้ทำหน้าที่ฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกนับสิบประเทศจำนวนนับร้อยคนสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทยกระทั่งได้รับรางวัลระดับชาติและระดับโลกมากมาย จึงขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยแห่งนี้