บินไทย ฟื้นแล้ว! คาดออกจากแผนฟื้นฟูก่อนกำหนด ทยอยเปิดเส้นทางบินเพิ่ม

โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯชื่นชมคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย พร้อมส่งกำลังใจให้ผู้บริหาร-พนักงานการบินไทยทุกคน ร่วมกันทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้ก่อนกำหนด ย้ำทำต่อไปให้ดีที่สุด ให้สมกับเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยภาคภูมิใจ

วันที่ 19 ก.พ. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ขณะนี้การบินไทย ดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไปแล้วราว 70% ประกอบกับผลการดำเนินงานที่เป็นบวกต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 ซึ่งผู้บริหารการบินไทยมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2566 ก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) จะเป็นบวกมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าเกณฑ์กำหนดของการยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นจะทำให้การบินไทยสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการก่อนเป้าหมายกำหนดในปลายปี 2567 และกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายในปี 2568

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอบคุณและชื่นชมคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย (จำกัด) มหาชน ที่ได้กำกับเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอบคุณผู้บริหารตลอดจนพนักงานของการบินไทยทุกฝ่ายทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่ง สามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ก่อนเป้าหมายที่วางไว้

นายอนุชากล่าวว่า ล่าสุดการบินไทยได้เผยถึงภาพรวมการดำเนินงานในปัจจุบัน การบินไทยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 80% และคาดว่าทั้งปี 2566 จะคงอยู่ในระดับ 80% ส่วนรายได้ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตราว 40% จากปี 2565 ที่คาดการณ์รายได้ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่การบินไทยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1.6-1.7 แสนล้านบาทต่อปี ด้านความสามารถทำการบิน ขณะนี้การบินไทยเริ่มกลับมาทำการบินคิดเป็น 65% ของเส้นทางบินทั้งหมด หากเทียบกับปี 2562 และมีแผนจะทยอยเปิดบินเพิ่มเติมต่อเนื่องในเส้นทางเอเชีย จีน ญี่ปุ่น และยุโรปในเมืองที่มีความนิยมสูง ซึ่งจะทำให้การบินไทยกลับมาเปิดบินคิดเป็น 80% ในปี 2568

นอกจากนี้ จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของปริมาณความต้องการเดินทางในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2566 ประกอบกับแผนเพิ่มเส้นทางและความถี่เที่ยวบินตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เป็นต้นไป การบินไทยจึงได้เปิดรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินกว่า 300 อัตราเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

“ขณะนี้การบินไทยกำลังพิจารณาเรื่องการจัดหาเงินทุนใหม่วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาเปรียบเทียบแนวทางจัดหาเงินทุนใหม่ และรอประเมินสถานการณ์ทางการเงิน ว่ามีความจำเป็นต้องจัดหาเงินทุนมากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสดเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูของการบินไทยมาโดยตลอด พร้อมชื่นชมการบินไทยที่เป็นองค์กรที่มีความสามารถในการแข่งขัน เสมือนเป็นทูตวัฒนธรรมที่ร่วมประชาสัมพันธ์ประเทศไทยมากว่า 60 ปี ผ่านการทุ่มเทการทำงานของบุคลากรจำนวนมาก ทั้งนักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน วิศวกร พนักงานภาคพื้น รวมทั้งพนักงานในส่วนอื่น ๆ ของบริษัทฯ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้กำลังใจการบินไทย คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ตลอดจนผู้บริหารและพนักงานการบินไทย ขอให้ทำต่อไปให้ดีที่สุด ให้การบินไทยกลับมาดำเนินกิจการอย่างเต็มขีดความสามารถ สมกับที่เป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยภาคภูมิใจ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2565 บริษัท การบินไทยฯ ได้รายงานผลการดำเนินการไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงาน ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 3,920 ล้านบาท เทียบจากขาดทุนในช่วงเดียวกันของปีก่อน 5,310 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 32,860 ล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 582% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่กว่า 30,000 ล้านบาทมาจากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สาเหตุที่รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากธุรกิจการบินเริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้มีผู้โดยสารเดินทางมากขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีเพียง 9% เท่านั้น ทำให้การบินไทยได้เพิ่มความถี่ในการบินมากขึ้นในหลายเส้นทาง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ และบริษัทย่อยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าทั้งในส่วนของเครื่องบินและอื่น ๆ เป็นกำไรจำนวน 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท ทั้งนี้ EBITDA สำหรับบริษัทฯ มากกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนคือเงื่อนไขหนึ่งในการออกจากแผนฟื้นฟู