แห่มอบดอกไม้ “สืบพงศ์”นั่งเก้าอี้ อธิบการ ม.รามฯ อีกครั้ง หลังศาลฯคุ้มครองชั่วคราว

แห่มอบดอกกุหลาบให้กำลังใจ “สืบพงศ์ ปราบใหญ่” หลังศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองรอบ 2 กลับมานั่งเก้าอี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกครั้ง ยืนยันตั้งใจ ทุ่มเททำงาน

วันที่ 14 ก.พ.2566 เวลา 08.00 น.ผศ.ดร.สืบพงศ์ ปราบใหญ่ กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกครั้ง ท่ามกลางอาจารย์-เจ้าหน้าที่มอบกุหลาบแดง (วาเลนไทม์) ให้กำลังใจ และอวยพรให้ฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ การกลับมารับตำแหน่งอธิการบดีอีกครั้งเกิดจากศาลปกครองกลาง สั่งคุ้มครองชั่วคราว อธิการบดีรามคำแหง
โดยศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากที่ถูก สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกคำสั่งให้ถอดถอน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 และตามมาด้วยมติเลิกจ้างด้วย ซึ่งถือว่าร้ายแรง ผศ.ดร.สืบพงศ์ ได้ต่อสู้ในขบวนการยุติธรรม ด้วยการฟ้องศาลปกครองกลาง และ ฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางด้วย และเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จนกว่าศาลจะตัดสินออกมาผศ.ดร.สืบพงศ์ กล่าวว่า ในการเริ่มต้นการทำงานโดยส่วนตัวตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้ามาทำงานในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทุกคนในมหาวิทยาลัยรู้ดีว่าตนทำงานอุทิศตนให้มหาวิทยาลัยแค่ไหน “ผมทุ่มเทเวลาให้กับมหาวิทยาลัยมากกว่าครอบครัวด้วยซ้ำ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่เว้นแม้วันเสาร์-อาทิตย์ และตลอดสิบปีที่ผ่านมาก็ไม่มีเรื่องราวอะไรเสื่อมเสีย แต่ตำแหน่งอธิการบดี เป็นตำแหน่งทางการเมือง การที่ผมไม่เห็นด้วยกับผลประโยชน์ หรือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผมโดนเล่นงาน”ผศ.ดร.สืบพงศ์ กล่าวอีกว่า ในประเด็นปีญหาต่างๆที่มีการร้องเรียน ถ้าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ลองเปิดใจให้ความเป็นธรรม ดูเอกสารคำชี้แจงจากหน่วยงานต่างๆ แล้วจะเข้าใจ เมื่อถามถึงนับจากนี้ไปจะเป็นการบริหารท่ามกลางความขัดแย้งกับสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง จะจัดการอย่างไร ผศ.ดร.สืบพงศ์ กล่าวว่า เราต้องมององค์กร คือตัวมหาวิทยาลัยเป็นหลัก โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา เพราะเรามีโรงเรียนสาธิตด้วย ในสถานการณ์วิกฤตินักศึกษาลดลง ต้องมาพิจารณาการจัดรูปแบบการเรียนการสอบจะเป็นอย่างไร ในแวดวงวิชาการมองเหมือนกันหมด แต่ท่ามกลางวิกฤติอาจจะยาก นักศึกษาลดลง ต้องจัดรูปแบบการเรียนการสอบรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องยากในการพัฒนามหาวิทยาลัย พัฒนาวิชาการ รูปแบบการให้บริการการศึกษา ทำอย่างไรให้นักศึกษาเข้าถึงตัวมหาวิทยาลัยง่ายขึ้น“การสร้างเรื่อง สร้างเงื่อนไขทางการเมือง ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับมหาวิทยาลัย กับองค์กร ส่วนอีกฝ่ายจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป ผมไม่ทราบ ขอทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด และรอผลของคดีอาญา” ผศ.ดร.สืบพงศ์ กล่าว ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนทุกท่าน รับฟังแถลงคำชี้แจงจากอธิการบดี ในวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารวิทยบริการและบริหาร มหาวิทยาลัยรามคำแหง