นักวิชาการ ชี้ “สภาล่ม” บ่อย เหตุจากไม่ครบองค์ประชุม คล้ายถูกชัตดาวน์ ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ทำหน้าที่ ทำให้กฎหมายค้างสภา จนถูกตั้งคำถามเหมือนเป็นการด้อยค่า ส.ส.แนะ นายกฯ “ยุบสภา” แก้ปัญหา
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหาการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ครบองค์ประชุม หรือ “สภาล่ม” ว่า สภาล่มบ่อยครั้งจนเหมือนสภาชัตดาวน์ ไม่สามารถทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ ถือเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ที่ไม่ทำหน้าที่ให้เกิดการประชุมฝ่ายนิติบัญญัติได้ อีกทั้งรัฐบาลไม่ใส่ใจการประชุมดังกล่าว เพราะมุ่งหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้ามากกว่า ทำให้สภาถูกบั่นทอนและลดบทบาทลงไปมาก แทบไม่เหลือคุณค่าและความสำคัญใดๆ อีก
หากรัฐบาลมีความจริงใจและเห็นความสำคัญของสภา ส.ส.ต้องดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณากฎหมาย ตอบกระทู้ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติของฝ่ายค้านได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และตรวจสอบการทำหน้าที่สภา ที่เป็นตัวแทนประชาชนว่าเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจเรื่องดังกล่าวมากนัก ซึ่งสภายังมี ส.ส. 439 คน จาก 500 คน เป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลถึง 247 คนมีเสียงเกินกึ่งถึง 27 เสียง สามารถประชุมสภาได้อยู่แล้ว ขณะที่ฝ่ายค้านมี ส.ส.เพียง 192 คนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 220 คน ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ดังนั้น รัฐบาลมาโทษฝ่ายค้านที่ไม่ให้ความร่วมมือประชุมสภาดังกล่าวไม่ได้ ที่สำคัญไม่ใช่ความผิด นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ที่ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ เพราะเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับสภาดังกล่าว ส่งผลให้การประชุมสภาล่มซ้ำซากจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
ดังนั้น ทางออกเรื่องดังกล่าวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ควรยุบสภาไปเลยเพื่อจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ เพื่อให้พรรคการเมืองและว่าที่ผู้สมัครได้ลงพื้นที่หาเสียงกับประชาชนได้เต็มที่ ไม่ต้องเบียดบังเวลาและงบประชุมสภา ไม่ถูกประชาชนตำหนิว่าไม่ทำหน้าที่อีก น่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย เพื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลและผู้นำประเทศคนใหม่ในอนาคต
การยุบสภาถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่มีทางออกอื่น เพราะรัฐบาลเหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือนก่อนครบวาระแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีสภาเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติอีก เพื่อให้ทุกพรรคได้หาเสียงเต็มเวลาและเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลเท่านั้น ส่วนกฎหมายที่ค้างการพิจารณา ผู้เสนอสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาใหม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาชุดใหม่พิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่ไม่อยากฝากสภาใหม่เรื่องอะไรเ พราะต้องรอดูผลการเลือกตั้งก่อนว่าพรรคไหนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ใครเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ มีทิศทางเป็นอย่างไร ถึงสามารถฝากสภาชุดใหม่ได้