ความคืบหน้าคดีอื้อฉาว “ตู้ห่าว” มาเฟียทุนจีนสีเทา อัยการ ยืนยันสำนวนคดี ตำรวจทำครบถ้วนสมบูรณ์ สอบพยานไปแล้ว 400 ปาก ออกหมายจับรวมแล้ว 37 ราย ผบ.ตร. ขอให้สังคมมั่นใจการสอบสวน ส่งสำนวนอัยการภายใน 2 สัปดาห์
วันที่ 8 ม.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าคดี “ตู้ห่าว” โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) </strong>ในฐานะที่ปรึกษา เข้าร่วมประชุมคณะทำงานกำกับการสอบสวนและการดำเนินคดีสำคัญที่สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีนายสมเกียรติ คุววัฒนานนท์ รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงาน และคณะทำงาน รายงานความคืบหน้าการสอบสวน คดีนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ “ตู้ห่าว” กับพวกด้วย จากนั้นมีการแถลงข่าว โดยมี นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน, พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ และ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงนายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ตามที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายพนักงานสอบสวน โดยให้พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ทำการสอบสวน และพนักงานอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานต่างประเทศ ร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน และให้ ผบ.ตร. เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ วันนี้มีการประชุมคณะทำงานกำกับการสอบสวนและการดำเนินคดีสำคัญ ซึ่งมี น.ส.นารี และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ในฐานะที่ปรึกษา เข้าร่วมประชุม โดยนายสมเกียรติฯ หัวหน้าคณะทำงาน และคณะทำงาน รายงานความคืบหน้าการสอบสวนคดีนายชัยณัชร์ หรือตู้ห่าว กับพวกต่อข้อถามว่า สำนวนคดีที่ บช.น. ส่งให้อัยการดำเนินการต่อ หรือสำนวนอ่อน ตามที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ กล่าวหาหรือไม่ นายกุลธนิต กล่าวว่า จากการที่พนักงานอัยการได้รับมอบหมายให้ไปร่วมสอบสวน ขั้นตอนแรกคือนำสำนวนการสอบสวนมาตรวจสอบดูว่าพนักงานสอบสวนดำเนินการอย่างไรไปบ้างแล้ว จากการตรวจสอบสำนวนโดยละเอียดปรากฏว่า ในภาพรวมของสำนวนการสอบสวนทั้งหมดที่พนักงานสอบสวนดำเนินการมาแล้วเป็นการกำหนดแนวทางการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานมาในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว การสอบสวนครบถ้วนสมบูรณ์ดีทุกอย่าง มุ่งเน้นสอบสวนเพื่อดำเนินคดีในการกระทำของผู้ต้องหากลุ่มนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นว่าเขากระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง แต่มุ่งเน้นสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด เกี่ยวข้องกับการกระทำทั้งหมด ที่เขากระทำความผิด โดยขบวนการมีใครบ้าง การสอบสวนทำมาถูกต้อง พนักงานอัยการดูแล้วเพิ่มเติมบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ จนออกหมายจับเพิ่มเติมได้ โดยอาศัยสำนวนหลักที่ตำรวจรวบรวมมา ประเด็นที่กล่าวว่าสำนวนการสอบสวนหละหลวมไม่สมบูรณ์ ความจริงแล้วมีความครบถ้วน พนักงานอัยการแทบไม่ต้องทำอะไรมากมาย อัยการเพียงแต่มาหาจุดเชื่อมโยงเพิ่มเติมเมื่อถามว่า การแจ้งข้อกล่าวหาล่าช้าจะเป็นช่องโหว่ให้เป็นข้อต่อสู้ของนายตู้ห่าวหรือไม่ นายกุลธนิต กล่าวว่า ไม่เป็นช่องโหว่ เพราะการแจ้งกล่าวข้อหาเป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง ส่วนเนื้อหาที่สอบสวนมารวบรวมการกระทำของผู้ต้องหาว่าเป็นความผิดฐานใดเพื่อให้การสอบสวนลุล่วง คณะทำงานจะส่งสำนวนโดยให้มีระยะเวลาเหลือให้อัยการสูงสุดพิจารณาพอสมควร คาดว่าจะครบกำหนดฝากขัง (ตู้ห่าว) ครั้งที่ 7 วันที่ 20 มกราคม 2566 ตามกำหนดก็จะต้องเหลือให้อัยการสูงสุดพิจารณา อาจจะเป็นวันที่ 8 มกราคม 2565 หรืออาจจะเกินไปไม่มาก
ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า คดีนี้การกระทำนายตู้ห่าวถือเป็นตัวการหลัก และการร่วมกันสอบสวนกับอัยการจนถึงวันนี้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2565 มีความคืบหน้าชัดเจน ผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นเครือข่ายเดียวกัน “สังคมอาจเข้าใจคาดเคลื่อนในคดีร้านจินหลิง ว่า พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีผับจินหลิง อยากเรียนให้ทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 อัยการสูงสุด (อสส.) ได้มอบหมายให้ผมเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีหน้าที่ลงนามทำความเห็นทางคดีในสำนวนการสอบสวน โดยทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนในสังกัด บช.น. บช.ก. บช.ปส. และ บช.สอท. และพนักงานอัยการที่ อสส. มอบหมาย จำนวน 12 ท่าน ผมได้ดูแลการสอบสวนด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดร่วมกับพนักงานอัยการ เพื่อให้งานขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วและรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนที่สุด ขอให้สื่อมวลชนและประชาชนมั่นใจในการสอบสวนคดีนี้ เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า ผบช.น. ไม่ได้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้แล้ว” ผบ.ตร. กล่าวพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า คดีนี้สอบพยานไปแล้ว 400 ปาก ยื่นคำร้องขอออกหมายจับจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ออกหมายจับรวมแล้ว จำนวน 37 ราย มีทั้งข้อหาร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1, จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 และ 4, สมคบยาเสพติดฯ และข้อหาฟอกเงิน จับกุมแล้ว จำนวน 19 ราย เหลืออีก 18 รายอยู่ระหว่างติดตามจับกุม โดยตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีเรื่องนี้ทั้งหมด 114 ราย (รวมคดีเสพ) ทั้งนี้จะสรุปสำนวนเสนออัยการสูงสุด ซึ่งคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ และอัยการสูงสุดจะพิจารณาฟ้องคดีต่อศาลภายใน 20 มกราคมนี้
ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า กรณี นายชูวิทย์ ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ ผบช.น. นั้น กรณีดังกล่าว ตร. ได้มีคำสั่งที่ 2/2566 ลงวันที่ 3 มกราคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าการดำเนินการสืบสวนสอบสวนที่ผ่านมามีส่วนใดบกพร่อง และทำให้คดีเสียหายหรือไม่ อย่างไร โดยแต่งตั้งให้จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ โดยมีข้าราชการตำรวจในสังกัดจเรตำรวจ และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมเป็นคณะกรรมการ และให้ตรวจสอบให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง “และเพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม ผมได้เชิญพนักงานอัยการเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาและให้ข้อมูลประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงในครั้งนี้ด้วย” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว
ส่วน กรณีที่นายชูวิทย์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์องค์กรตำรวจ และอัยการจะเข้าข่ายฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่ ผบ.ตร. กล่าวว่า ต้องดูว่ามีใครได้รับความเสียหายหรือไม่อย่างไร และต้องไปดูแต่ละคำพูด แต่ตอนนี้ขอเน้นเรื่องการขยายผลทำคดีเป็นหลักก่อน ส่วนเรื่องอื่นค่อยว่ากันอีกที “อยากให้สื่อมวลชนเข้าใจการทำงานว่ามันไม่ได้ง่ายเหมือนนักมวย เวลาไปชกมวย กองเชียร์ก็มองว่าทำไมเตะตัดขา ไม่ต่อย โดยที่กองเชียร์ไม่ได้รู้ว่านักมวยทำอะไรอยู่ อย่างการสอบพยาน สอบไปแล้ว 400 ปาก และจะสอบเพิ่มเติมอีกหรือไม่” ผบ.ตร. ระบุ.