อนิจจาประเทศไทย ราคาปาล์มสด ดิ่งเหว ต่ำกว่าต้นทุน แล้วเกษตรจะอยู่อย่างไร

ราคาผลปาล์มสดวันนี้ ลานเท อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช อยู่ที่ กก.ละ 4.70 บาท ราคาประกันอยู่ที่ 4 บาท กล่าวสำหรับราคาผลปาล์มสด เคยไต่ขึ้นไปถึง 11-12 บาทมาแล้วเมื่อ 6-7 เดือนก่อน จากนั้นค่อยๆลดราคาลงมาต่อเนื่อง มาทรงอยู่ที่ 7 บาทค่อนข้างนาน จากนั้นก็ค่อยๆลดลงมาอีก จนมาอยู่ที่ 4.70 บาทในวันนี้

ส่วนต้นทุนการปลูกปาล์มค่อยๆสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก กก.ละ 4 บาท จนเวลานี้ไปอยู่ที่ 5.90 บาทแล้ว แต่ราคาประกันรายได้ของรัฐบาลยังอยู่ที่ 4 บาท โดยต้นทุนหลักที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้น 2 เท่ากว่าแล้ว เดิมที่รัฐบาลคำนวณต้นทุนการผลิตปุ๋ยที่ให้ราคาประกัน 4 บาท/กก. ราคาปุ๋ยอยู่ที่กระสอบละ 800-900 บาท แต่ปัจจุบันราคาปุ๋ยพุ่งไปอยู่ที่กระสอบละ 1800-2000 บาทแล้วราคาปุ๋ยปรับราคาขึ้นไปด้วยสารพัดเหตุผล ทั้งน้ำมันแพง หัวปุ๋ยซึ่งนำเข้า 100% ก็ราคาแพงขึ้น แต่เมื่อราคาบางอย่างลดลง แต่ราคาปุ๋ย ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ยังอยู่ในระดับราคาเดิม แต่ราคาผลปาล์มสด ลดลงอย่างต่อเนื่อง ลดลงจนต่ำกว่าต้นทุนการผลิตแล้ว ง่ายๆคือชาวสวนปาล์มแทงปาล์มขายได้ราคาที่ขาดทุน

ข้อเสนอ #นายหัวไทร คิดว่า
-รัฐบาลควรทบทวน และคิดคำนวณต้นทุนการปลูกปาล์มใหม่ ให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง และกำหนดราคาประกันรายได้สำหรับปาล์มใหม่ เพื่อให้ชาวสวนปาล์มอยู่ได้ ไม่ขาดทุน
-หาช่องทางในการดูแลราคาปุ๋ย ทำอย่างไรให้ราคาลดลงตามต้นทุนจริง
-รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มมีทางเลือกในการใช้ปุ๋ย เช่น ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพอื่นๆ
-รัฐบาลควรลงทุนเองในการตั้งโรงงาน หรือบริษัทผลิตปุ๋ย ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทปุ๋ยสยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ เปิดโอกาสให้เกษตรกรถือหุ้นในกิจการปุ๋ยด้วย หรืออาจจะบริหารในรูปแบบสหกรณ์ช่องทางตามเสนอน่าจะเป็นช่องทางในการช่วยเหลือเกษตรกรได้ไม่น้อย และช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในการเข้ามาเจือจุณ และที่พูดกันมามากยาวนานคือ เสถียรภาพด้านราคาผลผลิตการเกษตร ที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำได้ ไม่ว่าจะเป็นราคายางพารา ราคาปาล์ม ราคาข้าว ราคาอ้อย ราคามันสัมปะหลัง ราคาข้าวโพดเพื่ออาหารสัตว์ และราคาผบผลิตการเกษตรทุกตัว ราคาไม่เคยมีเสถียรภาพ มีแต่ลมปากในช่วงการหาเสียง ทำให้เกษตรไม่อาจจะคำนวณต้นทุน รายได้ กำไรได้ เป็นการประกอบอาชีพบนความเสี่ยง ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงบางเรื่องรัฐบาลทำได้ เพื่อคานอุลย์อำนาจกับเอกชนที่หวังผลกำไรสูงสุด แต่รัฐบาลลงทุนโดยไม่ต้องหวังผลกำไรสูงสุด แต่ให้องค์กรอยู่ได้ ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากได้

ไม่เข้าใจว่าที่ผ่านมาติดปัญหาอะไร ฝ่ายการเมืองถึงไม่คิดไม่ทำ หรือว่า คิดไม่ออก “มึนแปดทิศ” ก็ไม่น่าจะใช่ หรือเกิดจากทุนภาคเอกชนกดทับสมองอยู่ กดทับไม่ให้คิด ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่า “ทุนภาคเอกชน” คือ “มะเร็งร้าย” กดกินสมองของนักการเมืองฝ่ายมีอำนาจ ทำลายวิถีชีวิตของเกษตรกรไม่ให้ลืมตา อ้าปาก ลุกขึ้นมาเรียกร้อง กลายเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ “ง้อยเพี้ยเสียขา” ค่อยพึ่งพิงแต่สิ่งที่รัฐบาลจะหยิบยื่นให้

การเมืองกำลังเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง อันเป็นการเลือกตั้งเพื่อช่วงชิงอำนาจบริหาร ถ้าพรรคการเมืองไหนมีนโยบายที่โดนใจเกษตรกรอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ พรรคนั้นมีโอกาสชนะ และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองไม่ควรนั่งคิดหาเงินมาซื้อสิทธิ์ซื้อเสียงของประชาชน ได้ยินเข้ากะทุ่มกันเขตละ 20-30 ล้าน ซื้อตัว ส.ส.กันคนละ 40-50 ล้าน ได้ยินแล้วหนาว “มันคือต้นตอของวงจรอุบาทว์” ชัดๆ มันคือประชาธิปไตยเงินสด (money politics)วงจรอุบาทว์ มันเริ่มต้นจากการซื้อสิทธิ์ ซื้อเสียง ได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมาก ก็จัดตั้งรัฐบาล เข้าไปถอนทุนกับโครงการของรัฐบาล มีการทุจริตคอรัปชั่น สุดท้ายจากความเลวร้ายของการเมืองเพื่อพวกพ้อง ก็จบลงด้วยความขัดแย้ง แตกแยก อันนำมาสู่การยึดอำนาจ รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง
ทหารเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์ให้พรรค และพวกตนเอง ให้ชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐมนตรีอีก

นี้คือวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยที่ตกอยู่ในวังวนเหล่านี้ไม่จบไม่สิ้นที่นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา เราก็ยังไปไม่ถึงไหน “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ผู้อาวุโสแห่งพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ไว้ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการใช้เงินกันมโหฬาร และจะเป็น “ธนาธิปไตย” เต็มรูปแบบ นายทุนการเมืองจะเข้ามาทุ่มเงิน กว้านซื้อ ทุกสิ่งอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่ง “อำนาจรัฐ”

อนิจจาประเทศไทย หลับตานึกยังไม่เห็นอนาคตว่าจะเดินไปในทิศทางที่สดใส ศริวิไลย์ เห็นแต่ซากปรักหักพังของความเลวร้าย

#นายหัวไทร #ประชาธิปไตยเงินสด