ทึ่ง! นักวิชาการดังบรรยายงานดินเนอร์ ทอล์ค เด็กสาธิตวิทยาการอิสลามมอ.ปัตตานี นี่แหละอนาคตชาติ

เมื่อได้เจอนักเรียน รร.สาธิต มอ.ปัตตานี ตัวเป็นๆเข้าให้ บอกตามตรงว่าขนลุกซู่ด้วยความภาคภูมิใจ โรงเรียนไทยหลายแห่งคงเป็นลักษณะเดียวกัน หากเป็นอย่างนี้จะให้เราแข่งกับใครที่ไหนก็ได้

มอ.ปัตตานีกำลังร่วมสร้างนักวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตอนที่ 1

วันที่ 26 พ.ย. ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ข้อความระบุว่า วานนี้เสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2565 คณะวิทยาการอิสลาม (Faculty of Islamic Sciences) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) จัดงานดินเนอร์ทอล์ค สำหรับนักเรียนโรงเรียน สาธิตวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระดับมัธยมปลายของทางคณะ โดยจัดที่โรงแรมปาร์คอินทาวน์ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้เชิญผมไปบรรยายพิเศษ มีผู้ฟังคือนักเรียนระดับดังกล่าวร่วมกับครูอาจารย์ ผู้บริหารคณะ ร่วม 300 คน งานจัดอย่างหรูหรา นักเรียนที่กำลังเตรียมตัวเรียนระดับมหาวิทยาลัยใส่สูทกันพร้อมเพรียงดูงามสง่า เป็นงานคล้ายกาล่าดินเนอร์ทำนองนั้น

ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรแต่ต้องเลื่อนงานเนื่องจากติดภารกิจต่างประเทศ จึงต้องขอบคุณที่ทางคณะสู้อุตส่าห์รอ ผมเคยบรรยายงานสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนลักษณะนี้มาแล้วจึงไม่ทันคิดว่างานจะจัดอย่างยิ่งใหญ่เมื่อไปถึงงานจึงออกจะแปลกใจและประทับใจ นักเรียนใช้ภาษาอังกฤษกันบนเวทีอย่างคล่องแคล่ว ผมเล่าบนเวทีว่าเพิ่งกลับจากอินโดนีเซียได้ไปเห็นพัฒนาการโรงเรียนมัธยมปลายของอินโดนีเซียที่เป็นโรงเรียนประจำหรือ Boarding school หลายแห่ง ประทับใจการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กนักเรียนที่นั่น คิดว่าอินโดนีเซียกำลังเร่งสร้างคนเพื่ออนาคต ประเทศไทยของเราเจอคู่แข่งสำคัญเข้าแล้ว จะตามเขาทันหรือเปล่า

เมื่อได้เจอนักเรียน รร.สาธิตวิทยาการอิสลาม มอ.ปัตตานี ตัวเป็นๆเข้าให้ บอกตามตรงว่าขนลุกซู่ด้วยความภาคภูมิใจ โรงเรียนไทยหลายแห่งคงเป็นลักษณะเดียวกัน หากเป็นอย่างนี้จะให้เราแข่งกับใครที่ไหนก็ได้ ที่ยิ่งน่าประทับใจคือนักเรียน มอ.ปัตตานีซึ่งเป็นมุสลิมล้วน ทั้งหมดเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เคยฝันไว้เมื่อครั้งเป็นกรรมาธิการการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เมื่อหลายปีมาแล้ว ดูท่ากำลังจะเป็นจริง นั่นคือฝันว่านักเรียนนักศึกษาไทยเรียนสาขาวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น ผมให้ความเห็นไปว่าดัชนีชี้วัดสำคัญทางด้านการศึกษาที่จะบอกว่าประเทศสามารถก้าวขึ้นสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (developed country) ได้หรือไม่ คือสัดส่วนที่สูงของบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่สัดส่วนของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในภาพรวม งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าประเทศมุสลิมหลายประเทศพัฒนาได้ยากแม้สร้างบัณฑิตได้มากทว่าเป็นบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์ในสัดส่วนที่สูงเกินไป สังคมที่ยกระดับการสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไม่ได้ ผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ได้ต่ำ ย่อมพัฒนาไปได้ยาก งานวิจัยทางวิชาการชี้ประเด็นไว้อย่างนั้น

นานนับสิบปีมาแล้ว ผมเป็นคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยรับรู้ผ่านที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย (ทปอ.) ว่า มอ.ปัตตานีเกิดปัญหาคือมีนักศึกษามุสลิมจำนวนมาก ผมถามกลับไปว่ามหาวิทยาลัยอื่นจะบ่นบ้างได้ไหมว่ามีนักศึกษาที่ไม่ใช่มุสลิมมากเกินไป หากจะแก้ปัญหาโดยเริ่มด้วยการตั้งคำถามที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาย่อมแก้ได้ยาก มอ.ปัตตานีมีนักศึกษามุสลิมจำนวนมากนั้นถูกต้องแล้ว สอดคล้องกับประชากรในพื้นที่ ปัญหาที่ควรเป็นประเด็นให้ตั้งคำถามคือนักศึกษามุสลิมจำนวนมากเหล่านั้นสามารถพัฒนาเป็นทรัพยากรคุณภาพให้กับประเทศได้หรือเปล่า ในเมื่อจำนวนนักเรียนนักศึกษาของประเทศไทยในพื้นที่อื่นลดลงอย่างรวดเร็วจากปัญหาประชากรที่หดตัวลง ยกเว้นในพื้นที่มุสลิมภาคใต้ตอนล่างที่กลับเพิ่มขึ้น

ผมเคยมาบรรยายที่โรงเรียนธรรมวิทยา ยะลา มีเด็กนักเรียนฟังการบรรยาย 8 พันกว่าคน เด็กนักเรียนในพื้นที่มุสลิมเติบโตสวนทางกับเด็กนักเรียนในพื้นที่อื่นของประเทศ การบ้านสำคัญในวงการศึกษาคือ ประเทศต้องสร้างคุณภาพให้กับนักเรียนนักศึกษามุสลิมเหล่านั้นให้ได้ หากทำไม่ได้ก็ป่วยการ สังคมไทยในภาพรวมย่อมไม่ได้รับประโยชน์ ผมเคยติงเรื่องนี้ไว้ โดยขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างให้ความสำคัญกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ เมื่อได้มาเห็นด้วยตาวันนี้แล้วก็อุ่นใจ ฝันใกล้จะเป็นจริง ว่ากันอย่างนั้น