การปรับ ครม. คือ ประเด็นร้อนทางการเมือง ที่กำลังเป็นแรงกดดันถาโถมเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหนักหน่วง และรุนแรงยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสุดท้ายปลายรัฐบาล ผนวกกับความเคลื่อนไหวของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” หลังจากมีกระแสลือสะพัด จะยกทีมเศรษฐกิจไทยไปรวมกับพรรคเพื่อไทย สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า
“สงบ สยบ ความเคลื่อนไหว” คือกลยุทธ์ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นำมาใช้ต่อสู้กับแรงกดดันทางการเมืองที่รายล้อมอยู่รอบด้าน จากพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เรียกร้องให้ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัดส่วนของ ปชป. แทน นิพนธ์ บุญญามณี ที่ลาออกจาก รมช.มหาดไทย โดยเสนอ นริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง นั่งเก้าอี้ มท.3 แทน แต่จนแล้วจนรอด “บิ๊กตู่” ก็ได้แค่พยักหน้ารับทราบเท่านั้น
ทั้งนี้ไม่รวมถึง แรงกดดันจากกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ พลังประชารัฐ (พปชร.) ที่อยากได้ตำแหน่งบ้าง หลังจากมีเก้าอี้ว่างลง 2 ตำแหน่งนานแล้ว คือ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ รมช.แรงงาน ที่ “บิ๊กตู่” ใช้อำนาจปลด “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ “อ.แหม่ม” ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
คงมีแต่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เท่านั้น ที่ยังไร้สัญญาณขอปรับ ครม. แทน “ครูโอ๊ะ” กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ที่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ จากปมการออกเอกสารสิทธิในที่ดินป่าสงวนโดยมิชอบ
แต่นั่นไม่ได้หมายว่า “อนุทิน ชาญวีรกูล” หน.พรรค ภท. อยากอยู่นิ่งๆ เพราะโดยลึกๆ แล้ว ได้วางตัว “บุญลือ ประเสริฐโสภา” ส.ส. ราชบุรี รอง หน.พรรค ภท. แทน “ครูโอ๊ะ” ไว้แล้ว แต่เพราะเกรงใจ “บิ๊กตู่” ไม่อยากสร้างความลำบากใจให้ ในฐานะที่ “เสี่ยหนู” คือคนรู้ใจที่ “บิ๊กตู่” ให้ความไว้วางใจมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ ” สงบ สยบ ความเคลื่อนไหว” ก็ ไม่สามารถนำมาใช้ได้ตลอดไป เมื่อแรงกดดันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง !
ผู้สันทัดกรณีทางการเมือง มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่สามารถยื้อการปรับ ครม. ได้อีกนานนัก โดยหลังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก วันที่ 16-18 พ.ย.2565 สิ้นสุดลง จะมีการปรับ ครม.เกิดขึ้น และจะเป็นการปรับ ครม.ครั้งสุดท้ายในรัฐบาลชุดนี้
ที่สำคัญ ว่ากันว่า จะเป็นการปรับใหญ่ไม่ต่ำ กว่า 3-5 เก้าอี้ ซึ่งนอกเหนือจากสัดส่วนในพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง ปชป. พปชร และ ภท. แล้ว “บิ๊กตู่” ยังตัดสินใจดึงบุคคลภายนอก “ทศพร ศิริสัมพันธ์” ที่ปรึกษานายกฯ และ อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ที่เพิ่งร่อนใบลาออกจากทุกตำแหน่งมาหมาดๆ เป็นตัวเต็งบนเก้าอี้ รองนายกฯ และ หน.ทีมเศรษฐกิจ
ไม่รวมถึง “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ส.ส.พปชร. จำนวนหนึ่ง เสนอให้ดำรงตำแหน่ง รองนายกฯ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เป็นตัวเลือกอีกหนึ่งราย
ล่าสุด เมื่อ 23 ต.ค.65 พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อฯ หลังทำพิธีวางพวงมาลา อนุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันปิยมหาราช ถึงแรงข้อเสนอของพรรค ปชป. ที่ให้ปรับ ครม. สั้นๆว่า “ยังไม่ได้ทำอะไรเลย” … นั่นเท่ากับว่า ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น!
อีกประเด็นทางการเมืองที่กำลังร้อนแรง ไม่ด้อยไปกว่ากันคือ ความเคลื่อนไหวของพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ภายใต้การนำของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หลังจาก กลุ่ม ส.ส.21 คน ถูกขับออกจาก พปชร. ล่าสุด มีกระแสข่าวจะไปรวมตัวกับพรรคเพื่อไทย (พท.) ขณะที่มีบางส่วนย้ายไปอยู่ ภท. โดยหลังจาก “ร.อ.ธรรมนัส” ลาออกจากหัวหน้าพรรค ศท. ส่งผลให้ กก.บห. ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
ทำให้ต้องมีการประชุมใหญ่วิสามัญพรรค ศท.เมื่อ 10 ต.ค.2565 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ปรากฏว่า คนสนิทของ “ร.อ.ธรรมนัส” คือ เชวงศักดิ์ ใจคำ อดีตนายอำเภอดอกคำใต้ จ.พะเยา ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค และ สัจจวิทย์ ลีลาวณิชย์ อดีตรองนายกเทศมนตรีพะเยา เป็นเลขาธิการพรรค และในรายชื่อของ กก.บห. ชุดใหม่ 11 คน ไม่ปรากฏรายชื่อ ส.ส. แม้แต่คนเดียว
ก่อนหน้านี้ ร.อ. ธรรมนัส ได้นั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” หลังนำ ส.ส.ภาคเหนือเข้าสภาได้ 25 คน จากทั้งหมด 61 คน ก่อนถูกปลดพ้นเก้าอี้เมื่อ ก.ย. 2564 พร้อม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน
ร.อ. ธรรมนัส เคยเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ตั้งแต่ยุคสร้างพรรคปี 2542 ร่วมทำพื้นที่ กทม. ในยุครุ่งเรืองปี 2548 ก่อนเปิดหน้า-เปิดตัวลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 55 ในนามเพื่อไทยในศึกเลือกตั้งปี 2557 ทว่ายังไม่ทันได้เข้าสภา เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนั้น กลายเป็นโมฆะ
ต่อมาในการเลือกตั้ง 2562 ร.อ.ธรรมนัส พลิกขั้ว-ย้ายข้างมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ เรืองอำนาจทางการเมืองถึงขีดสุด ทั้งในฐานะ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค ก่อนถูกปลดพ้น ครม. และถูกขับพ้นพรรค
สำหรับ 21 ส.ส. กลุ่ม รอ.ธรรมนัส ที่ถูกขับพ้นพรรค พปชร. ตามมติของ กก.บห. และ ส.ส. พปชร. เมื่อ 19 ม.ค.2565 โดย ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย พปชร. ให้เหตุผลด้วยข้อหารุนแรงว่า นักการเมืองกลุ่มนี้ “ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความเป็นเอกภาพ และเสถียรภาพของพรรค”
โดยมี ส.ส. ที่ต้องพ้นจากความเป็นสมาชิก พปชร. แบ่งเป็น ส.ส.เขต 17 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4 คน โดยมี 3 คนที่แยกวงไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) คือ นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา, นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น และนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
แม้ ร.อ. ธรรมนัส กับคณะที่เหลืออยู่ ยังไม่เปิดเผยชื่อพรรคการเมือง ที่พวกเขาเตรียมย้ายเข้าไปสังกัดเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง 2566 แต่สื่อกระแสหลัก ต่างพาดหัวข่าวตรงกันว่า “ซบเพื่อไทยแน่”
แกนนำ พท. ถูกสื่อถามว่าหาก ร.อ. ธรรมนัส กลับมา พท. จะไม่ถูกต่อต้านจากสมาชิกพรรคหรือ “ฝนยังไม่ตก อย่าเพิ่งกางร่ม” คือคำตอบจาก ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พท.
นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร อดีตเลขาธิการ ศท. ออกมาบอกใบ้ว่า พรรคต้นสังกัดใหม่ต้องเป็นพรรคใหญ่ และมีโอกาสเป็นรัฐบาล โดยไม่ได้ตอบคำถามตรง ๆ ว่า ส.ส. ศท. เตรียมย้ายไปสังกัด พท. หรือกลับไปอยู่ พปชร. แต่ได้เปิดเผยเงื่อนไขในการเลือกพรรคต้นสังกัดใหม่เอาไว้ ดังนี้
1. รัฐธรรมนูญใหม่ที่ใช้สูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 “ต้องอยู่พรรคใหญ่ ไม่อย่างนั้นจะขับเคลื่อนลำบาก”
2. ส.ส. ศท. จะไปในทิศทางเดียวกัน “ส่วนเรื่องไปไหน 10 กว่าคนจะไปไหน ต้องมีที่ให้ทุกคน ถ้าลงเขตอยู่ ก็ต้องได้ลงเขต”
3. การจะอยู่พรรคไหน “เราต้องมองถึงอนาคตทางการเมืองว่าใครจะเป็นรัฐบาล เปรียบเป็นนักฟุตบอล ถ้ายังไม่ชูเสื้อ อะไรก็เกิดขึ้นได้”
ก่อนที่จะสรุปตบท้ายว่า ที่ผ่านมามีหลายพรรคติดต่อเข้ามาเยอะมาก ทั้งอยากได้ผู้กองไปทำงาน หรือติดต่อ ส.ส. เป็นรายบุคคล ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจ เพราะมีเงื่อนเวลาอยู่แล้วว่า จำเป็นต้องย้ายพรรคภายในเดือน ธ.ค. นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมกรณีนายกฯ ประกาศยุบสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคภายใน 30 วัน หรือ กรณีสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบเทอม ซึ่งผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วัน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเงื่อนไขข้อที่ 2 ของแกนนำ ศท. ที่ว่า ส.ส. 10 กว่าคน “ต้องมีที่ให้ทุกคน ถ้าลงเขตอยู่ ก็ต้องได้ลงเขต” จะพบว่า มีบางพื้นที่ ที่จำเป็นต้องเจรจาต่อรองหาก ร.อ. ธรรมนัส จะยกพลเข้าสังกัด พท.จริง เนื่องจากพรรค พท.ได้จัดวางตัวว่าที่ผู้สมัครและทยอยประกาศชื่อต่อสาธารณะแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สมัคร ส.ส. ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด เปิดตัวแล้ว 30 คน ในจำนวนนี้มี จ.พะเยา ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของ ร.อ. ธรรมนัส รวมอยู่ด้วย โดย พท. เปิดตัว พล.ต.ต. ธรรมนูญ มั่นคง เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พะเยา เขต 2 และ นายอำนาจ วิชัยสำหรับ เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พะเยา เขต 3
ดังนั้น เมื่อมาถึงตรงจุดนี้ ความเป็นไปได้ ที่ “ร.อ.ธรรมนัส” จะนำ ส.ส.ศท. ไปรวมตัวกับ พท. จึงเป็นไปได้ยาก !
คำถามคือ ก้าวต่อไป ของ “ร.อ.ธรรมนัส” จะต้องเดินต่อไปอย่างไร? ซึ่งคงไม่ยากเลย หากคิดจะหวนกลับไปซบอก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หน.พรรค พปชร. ในฐานะ “ผู้ใหญ่” ที่ “รอ.ธรรมนัส” ให้ความเคารพมาโดยตลอด
แต่ปัญหาคือ บุคคลรอบข้างที่อยู่ภายใน พปชร. จะยินดีต้อนรับหรือไม่ หลังจากที่ พปชร. มีมติขับ “ร.อ.ธรรมนัส” พร้อมพวก กระเด็นพ้นออกมาด้วยข้อหาที่รุนแรง !
จึงเป็นประเด็นร้อน ที่ต้องติดตามกันต่อไป ด้วยวลีข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” บนถนนการเมืองไทย !