‘สืบพงษ์’โต้กลับทันที หลังถูกปลดพ้นตำแหน่งอธิการบดีรามฯรอบ2

สืบพงษ์”โต้กลับ สภาม.ราม ปมมติถอดถอนพ้นอธิการ ม.ราม รอบ 2 ชี้เหตุจากศาลทุจริตสอบกรรมการสภาฯปฏิบัติมิชอบ ปลดครั้งแรก

สืบพงษ์ ปราบใหญ่ โต้กลับสภาม.ราม กรณีลงมติถอดถอนพ้นอธิการ ม.ราม รอบ 2 ด้วยคะแนน 10-9 งดออกเสียง 2 และอีก 1 เสียงคือ อธิการบดี ถูกเชิญออกจากห้องประชุม ชี้ไม่เปิดโอกาสให้แจงข้อกล่าวหา ระบุ ไม่เป็นกลางเหตุกรรมการสภา ม.ร. ที่มีส่วนในการลงมติรอบแรก กำลังถูกยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ พร้อมยัน จบป.เอกที่ผ่านการรับรองคุณภาพการศึกษาจริง และกระทรวง อว.กำลังตรวจสอบไม่ใช่หน้าที่ กพ. ส่วนประเด็นรับโอนทรัพย์สิน เป็นการฟ้องผู้อื่น ตนเองเป็นเพียงผู้ยื่นคัดค้านในคดีเท่านั้น ลั่นเตรียมใช้ฟ้องสิทธิเรียกร้องความเป็นธรรม

8 พฤศจิกายน 65 นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าวภายหลังสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีมติถอดถอน พ้น อธิการ ม.รามคำแหง รอบ 2 ใน 3 ประเด็น คือ 1.ใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจาก ก.พ. 2.รับโอนทรัพย์สินในคดีที่มีการกล่าวหาผู้อื่นร่ำรวยผิดปกติ และ 3.ถวายฎีกาด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า เรื่องที่ถูกบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนกล่าวหา

นายสืบพงษ์ ระบุว่า ได้ชี้แจงกับ สภา ม.รามฯ ในทุกประเด็น แต่ไม่ได้รับโอกาสให้แก้ข้อกล่าวหา และการนัดประชุม สภา ม.รามครั้งนี้ ไม่ได้การแจ้งให้ทราบว่าจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระประชุม และถูกเชิญออกจากห้องประชุมทันที และมีมติดังกล่าวกล่าวออกมา แม้กรรมการในที่ประชุมจะมีการทักท้วงว่ายังไม่ควรนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมโดยมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความเป็นกลางในการลงมติเรื่องนี้เนื่องจากกรรมการสภา ม.รามฯ ที่มีส่วนในการลงมติอยู่ระหว่างถูกยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลได้กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในเดือนมกราคมปีหน้า

“ตาม พ.ร.บ.วิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 16 ระบุว่า ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้ นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำวินิจฉัยในคดีถอดถอนรอบแรกแล้วว่า กก.สภา ม.รามฯไม่มีอำนาจถอดถอน และมีคำสั่งคุ้มครองให้กลับมาปฎิบัติหน้าที่อธิการ ม.รามฯต่อ”

นายสืบพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องรับโอนทรัพย์สินในคดีร่ำรวยผิดปกตินั้น เป็นการฟ้องผู้อื่น ตนเองเป็นเพียงผู้ยื่นคัดค้านในคดีเท่านั้น ไม่ได้ถูกฟ้องโดยตรง ส่วนเรื่องวุฒิการศึกษาปริญญาเอก ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กพ.แต่ทางสภา ม.รามฯ กลับมีมติออกมาก่อน ดังนั้นจึงเตรียมใช้ฟ้องสิทธิเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป

ทั้งนี้มีข้อมูลการตรวจสอบเรื่องวุฒิการศึกษาปริญญาเอก ทางฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ม.รามฯ ซึ่งได้ทำการติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯที่นายสืบพงษ์สำเร็จการศึกษา ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อให้ส่งเอกสารยืนยันการรับรองคุณภาพการศึกษาจาก “ACICS” ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองคุณภาพการศึกษาและวิทยฐานะสถาบันระดับชาติของมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศสหรัฐฯที่เปิดสอนทางด้านธุรกิจ พร้อมส่งหนังสือรับรองการจบการศึกษา การตีพิมพ์เผยแพร่เล่มดุษฎีนิพนธ์บนฐานข้อมูล ProQuest รวมทั้งประกาศนียบัตรจากACICS ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยได้รับการรับรองคุณภาพการศึกษา ในช่วงระยะเวลาที่นายสืบพงษ์สำเร็จการศึกษา

นอกจากนี้อำนาจการตรวจวุฒิการศึกษาของมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศเป็นหน้าที่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.ซึ่งกำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ ส่วนเรื่อง ทางกพ.ตรวจสอบวุฒินั้น จริงๆสามารถตรวจได้ทางเว็บไซต์ โดยดูที่เงื่อนไขที่ 1) รายชื่อสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ ซึ่งมีการระบุถึงสถาบันการศึกษาที่รับรองโดยACICS ดังนั้น ด้วยข้อมูลทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า นายสืบพงษ์ จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยที่ผ่านการรับรองคุณภาพการศึกษาในช่วงเวลาของการสำเร็จการศึกษาในปี 2554 จริง

ทั้งนี้การลงมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ พ้นอธิการ ม.รามคำแหง รอบ 2 ครั้งนี้ ลงมติด้วยคะแนน 10-9 งดออกเสียง 2 และอีก 1 เสียงคือ อธิการบดี ถูกเชิญออกจากห้องประชุม

ก่อนหน้านี้นายสืบพงษ์ ถูกสภามหาวิทยาลัยปลดออกจากตำแหน่งมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ศาลปกครองตัดสินว่า การปลดมิชอบให้คืนตำแหน่ง ก่อนจะมาถูกปลดอีกครั้ง