คณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมหาดไทย ปลดล็อกต่างชาติซื้อบ้าน-ถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ แลกลงทุนในไทยขั้นต่ำ 40 ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เปิดช่องทบทวนทุก 5 ปี
วันที่ 25 ต.ค.65 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นการกำหนดกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ที่สามารถได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
ให้สิทธิคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ซื้อที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ สำหรับอยู่อาศัย ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือ เขตเทศบาล หรือ อยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง โดยมีจำนวนเงินลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี อาทิ การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน
หากถอนการลงทุนในธุรกิจหรือกิจการก่อนครบกำหนดเวลาการดำรงทุน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถอนการลงทุน ส่วนขั้นตอน เงื่อนไข และวิธีการขอ ให้ยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังอธิบดีกรมที่ดินเพื่อพิจารณาเสนอรัฐมนตรีต่อไป
นายอนุชา กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย และเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 และวันที่ 24 ม.ค. 2565 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ด้วยว่า สามารถทบทวนร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ได้ทุกๆ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมไทยในขณะนั้นๆ ด้วย ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะส่งร่างดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย.